TNN “ประชาธิปไตยแบบเกาหลี” ทางออกของประชาธิปไตยในเอเชีย?

TNN

World

“ประชาธิปไตยแบบเกาหลี” ทางออกของประชาธิปไตยในเอเชีย?

“ประชาธิปไตยแบบเกาหลี”  ทางออกของประชาธิปไตยในเอเชีย?

“... ประชาธิปไตยที่ใช้ในที่หนึ่งอาจจะไม่ได้เหมาะกับการใช้ในทุกที่ แต่ส่วนสำคัญ คือ หลักการประชาธิปไตยต้องเป็นหนึ่งเดียวและเป็นสากล เราเชื่อในคุณค่าของประชาธิปไตย แต่ทั่วโลกมีประชาธิปไตยและระบบการเมืองที่หลากหลาย …” - เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย เวทีประชุมสุดยอดประชาธิปไตยครั้งที่ 3 - เกาหลีใต้

ข้างต้น คือคำกล่าวของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยในการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยครั้งที่ 3 (Summit for Democracy) ที่มีใจความสำคัญเรื่อง “ความหลากหลายของประชาธิปไตย” ที่ต้องระลึกไว้ ประชาธิปไตย “ไม่ได้มีแบบเดียว” แต่ละที่ก็แตกต่างกันไป อย่าไปยึดมั่นถือมั่น

 

เรื่องนี้เป็นประเด็นมาโดยตลอด  ว่า "ประชาธิปไตยที่มาจากตะวันตก"  แท้จริงนั้น เหมาะสมกับสังคมแบบเอเชียหรือไม่?

 

การที่การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย ครั้งที่ 3 นี้จัดขึ้นที่เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นความน่าสนใจในแง่ของประวัติศาสตร์การพัฒนาประชาธิปไตยในเอเชีย โดยพัฒนาจากประเทศที่เป็นอำนาจนิยมโดยรัฐบาลทหารยาวนาน สู่การเป็นประชาธิปไตยเต็มใบในปี 1988 ได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

อีกทั้งยังเป็นหัวเรือ ที่มีส่วนในการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างมาก ในขณะที่ประเทศในเอเชียอีกหลายชาติ กลับมีแนวโน้มที่จะหันไปหาระบอบอำนาจนิยม หรือคุณค่าแบบจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

ไม่แน่ว่า “ประชาธิปไตยแบบเกาหลี” อาจจะเป็นทางเลือกในการรักษาประชาธิปไตยในเอเชียได้อีกครั้ง



พัฒนาการทางเศรษฐกิจกับพัฒนาการทางประชาธิปไตย


หลายต่อหลายครั้ง มักมีการกล่าวว่า “ยิ่งพัฒนาเศรษฐกิจมากเพียงไร ย่อมมีความเป็นประชาธิปไตยได้มากเพียงนั้น” เมื่อเศรษฐกิจดีมาก ชนชั้นกลางก็เพิ่มขึ้น ทำให้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น และโค่นล้มระบอบอำนาจนิยมในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ของไทย

 

แต่จริง ๆ แล้ว อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป

 

เพราะบรรดาประเทศที่มีระบอบแบบเผด็จการหรืออำนาจนิยม ในบางครั้ง อาจมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มากกว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเสียอีก

 

แต่ที่น่าสนใจที่สุด คือ “ผลเสียในด้านลบ (Negative Impact)” ของประชาธิปไตย เพราะมีข้อพิสูจน์ที่ว่า หากประเทศใดมีกลุ่มคนที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยอย่างหนัก อาจนำไปสู่ ความวุ่นวายทางการเมือง (Chaos) ที่เพิ่มขึ้น โดยแสดงออกได้จากการออกมาเรียกร้องสารพัดเรื่อง นำมาซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าตามไปด้วย

 

ดังนั้น หลายต่อหลายครั้ง ประเทศมีเศรษฐกิจดีในเอเชีย อาจไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ตัวอย่างคือสิงคโปร์ ที่ถึงแม้จะมีเลือกตั้ง แต่พิจารณาดูก็รู้ว่าเป็นการปกครองโดยตระกูลลี หรือแม้แต่จีนเอง ที่ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก อย่างน้อยที่สุดคือหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997

 

ซึ่งตรงนี้ คือการได้อย่างเสียอย่าง หากต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจ ดีกรีของประชาธิปไตยก็อาจจะลดระดับลง แต่หากอยากได้ประชาธิปไตย ดีกรีของการพัฒนาเศรษฐกิจก็อาจน้อยลงได้เช่นกัน

 

แต่ไม่ใช่กับ "เกาหลีใต้" ถือเป็นไม่กี่ประเทศในเอเชียที่อยู่รอดมาได้ ด้วย "ประชาธิปไตยแบบเกาหลีใต้"  หรือ Korean “Liberal” Democracy

 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้ยังคงดำรงประชาธิปไตยอยู่ได้ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของ “การถ่วงดุลอำนาจ” อย่างเคร่งครัด เพราะอย่าลืมว่า ในอดีตเกาหลีใต้เผชิญกับความทรมานเนื่องจาก “การลุแก่อำนาจ” ของอดีตผู้นำประเทศ อาทิ การปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ปิดกั้น Free Speech การบังคับการแต่งกาย หรือกระทั่งการบังคับทรงผม

 

แน่นอน ถึงแม้เศรษฐกิจจะดี แต่การบังคับมาก ๆ ย่อมทำให้เกิดการระเบิดรุนแรงตามมา จึงส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมที่กวังจู หรือที่อินช็อน ด้วยบาดแผลนี้ ทำให้เกาหลีใต้ทำทุกทางที่จะ “จำกัดอำนาจ” ของประธานาธิบดีให้ได้มากที่สุด

 

ตรงนี้ จึงเป็นเรื่องของแนวคิด “เสรีนิยม (Liberalism)” ที่ว่าด้วยเรื่องของเสรีภาพ และการไม่ครอบงำ ระบบการเมืองจึงเป็นเรื่องของการคานอำนาจฝ่ายบริหารด้วย "สมัชชาแห่งชาติ" (National Assembly) ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยการเลือกในสมัยคร่อมกับประธานาธิบดี นั่นหมายความว่า หากไม่พอใจประธานาธบดีที่ตนเลือกมา ก็ให้เลือกสมัชชาแห่งชาติไปคานอำนาจได้ .. ทำให้ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการชนะด้วยเสียงข้างมากเพียงอย่างเดียว

 

หรือกล่าวให้ง่ายที่สุด การที่จะเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาประชาธิปไตยได้นั้น ต้องเข้าใจเสรีนิยมให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้น ประชาธิปไตยจะกลายเป็นเรื่องเลอะเทอะทันที

 

แม้เกาหลีใต้จะเป็นสังคม “ขงจื่อ (Confucianism)” ที่เชื่อในเรื่องความสูงต่ำในสังคม คุณค่าของครอบครัว คุณค่าของพี่น้อง ซึ่งขัดกับหลักการของเสรีนิยมและประชาธิปไตย ที่เชื่อเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค แต่หากพิจารณาดูแล้ว ความเป็นขงจื่อมีเรื่องของ “ความรับผิดรับชอบ (Accountability)” หากทำอะไรไม่ดีไม่งาม ย่อมไม่หน้าด้านพอที่จะดำรงอยู่ ดังที่เห็นได้จาก บรรดานักการเมืองเกาหลีใต้ เมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาว จะออกมาแสดงความขอโทษ และลาออกจากตำแหน่งทันที

 


ความอาวรต่ออำนาจนิยม (Authoritarian Nostalgia)


แน่นอน เกาหลีใต้เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น แต่ในสังคมจริง ๆ แล้ว ยังได้มีการ “อาวรณ์อำนาจนิยม (Authoritarian Nostalgia)” อยู่เนือง ๆ 


โดยสิ่งนี้ มักจะเกิดขึ้นเมื่อยามที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ [หรืออาจจะการเมืองในบางครั้ง] ประชาชนจะทำการหวนระลึกถึงความหลังของประเทศ เมื่อครั้งยังมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนมาก เป็นรัฐบาลอำนาจนิยมแทบทั้งสิ้น 


ตรงนี้ เป็นภาพสะท้อนอย่างดีว่า มีประชาธิปไตย ใช่ว่าเศรษฐกิจจะดีเสมอไป 


กระนั้น ในการระลึกนี้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องการให้ประเทศกลับไปเป็นอำนาจนิยม แต่ในระบอบประชาธิปไตยนี้ หากทำได้อย่างน้อยใกล้เคียงก็ยังดี


ซึ่งตรงนี้ เป็นเรื่องของ “ความอยาก (Desire)” มากกว่า “ความต้องการให้เป็น (Want to)” 


แหล่งอ้างอิง


https://foreignpolicy.com/2024/03/18/south-korea-summit-democracy-leader-yoon-korean-wave/

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง