TNN เงินบาทเช้านี้เปิดตลาด ‘แข็งค่าขึ้น’ ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์

TNN

Wealth

เงินบาทเช้านี้เปิดตลาด ‘แข็งค่าขึ้น’ ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเช้านี้เปิดตลาด ‘แข็งค่าขึ้น’ ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเช้านี้เปิดตลาด ‘แข็งค่าขึ้น’ ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้คาดอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาทต่อดอลลาร์

วันนี้ ( 20 พ.ค. 67 ) นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.85-36.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาท/ดอลลาร์


นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 36.05-36.30 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องราว +40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ยังคงติดอยู่แถวโซนแนวรับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ขณะที่ผู้เล่นต่างชาติที่ยังคงมุมมองเชิงลบต่อเงินบาท ก็อาจรอจังหวะเปิด/เพิ่มสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) เช่นกัน สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ได้ชะลอลงตามที่ตลาดคาดหวังไว้


สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะ สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงาน GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งอาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของไทยได้ 


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง โดยเงินบาทยังคงมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าจาก โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน นอกจากนี้ เงินบาทอาจอ่อนค่าลง หาก GDP ไตรมาสแรกออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้ง อนึ่ง ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ อย่างใกล้ชิด หลังราคาทองคำมีผลกับทิศทางเงินบาทพอสมควรในช่วงระยะสั้น


ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้น หากดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ออกมา “ดีกว่าคาด” ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกมาแย่กว่าคาด ลดโอกาส BOJ ขึ้นดอกเบี้ยต่อ


เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward


ภาพจาก: AFP






ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง