TNN โลกใกล้ภาวะ “แทบอยู่ไม่ได้” ไทยจะร้อนเทียบเท่า “ซาฮารา” แต่ กทม. กลับเสี่ยงจมใต้น้ำ

TNN

TNN Exclusive

โลกใกล้ภาวะ “แทบอยู่ไม่ได้” ไทยจะร้อนเทียบเท่า “ซาฮารา” แต่ กทม. กลับเสี่ยงจมใต้น้ำ

หากยังจำกันได้ เมื่อปีที่แล้ว เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาประกาศว่า ยุค “โลกร้อน” ได้สิ้นสุดแล้ว และตอนนี้เรากำลังก้าวสู่ยุค “โลกเดือด”

ตอนนั้น เราอาจคิดไม่ถึงว่า คำว่า “โลกเดือด” มันร้อนแค่ไหน กระทั่ง หน้าร้อนปีนี้มาถึง ทำให้เราสัมผัสได้ว่า ปีนี้ โลกร้อนจัด จนถึงขนาดที่ว่า เราอาจอาศัยอยู่บนโลกนี้ไม่ได้อีกต่อไป


---ทำไมไทยและโลกร้อนจนอยู่ไม่ได้---


อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเหล่านี้ ล้วนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้อากาศโลกแปรปรวนมากขึ้น และคลื่นความร้อนเกิดถี่และรุนแรงขึ้น ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์กังวลถึงสุขภาพของประชาชนที่ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน 


เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ และที่ปรึกษาองค์การสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้แสดงให้เห็นว่า โลกเรามีอุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกปี ทำให้อุณหภูมิของปีนี้ทุบสถิติของปีที่แล้ว 


นี่เป็นผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้บางพื้นที่ร้อนมากกว่าปกติ ดังนั้น เส้นมาตรฐานของอุณหภูมิได้ปรับเพิ่มขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว


เอเชียเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คลื่นความร้อนปกคลุมทั่วทวีป หลายประเทศต้องปิดโรงเรียนหนีความร้อน ขณะที่ ไทยเองก็ทุบสถิติอุณหภูมิสูงแตะถึง 44.2 องศาเซลเซียส 

เว็บไซต์ Greenpeace อ้างอิงข้อมูลจาก Berkeley Earth ว่าอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส มากกว่าค่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 1.3 องศาเซลเซียส 


หากประชาคมโลกไม่ลงมือจริงจัง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนถึงปี 2100 อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของไทยจะเพิ่มขึ้น 2.5-5.5 องศาเซลเซียสทีเดียว


นอกจากนี้ ผลการศึกษาเรื่อง ‘Future of the human niche’ ที่เผยแพร่ในปี 2020 คาดการณ์ไว้ว่า ปี 2070 ประเทศไทยอาจจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเทียบเท่าทะเลทรายซาฮารา อยู่ที่ 29 องศาเซลเซียส 


คลื่นความร้อนที่รุนแรงสูงสุดในตอนนี้ จะกลายเป็นคลื่นความร้อนที่เบาสุดในปี 2070 ส่งผลให้ประเทศไทยร้อนเกินกว่าจะอยู่อาศัยได้


---คนไทยตายฮีทสโตรกเพิ่มขึ้น 2 เท่า--- 


คำว่า “โลกร้อนจนอยู่ไม่ได้” ยังสะท้อนอยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ที่กรมควบคุมโรคเผยว่า ช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ปีนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งหมด 30 คน สูงกว่าปีที่แล้ว 2 เท่า


หากดูตัวเลขในช่วงปี 2019-2023 พบว่า มีผู้เสียชีวิตสะสม 131 คน เฉลี่ยเป็น 26.1 รายต่อปี และพบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ 


แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้ความร้อนในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความร้อนของประเทศไทยที่ผ่านมา มีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อน


---ทำไม กทม. เสี่ยงกลายเป็นทะเล---


แม้อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น และหลายพื้นที่ในไทยกำลังเผชิญภัยแล้ง ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งผลกระทบใหญ่ที่ไทยต้องรับมือในอนาคต นั่นคือ การที่กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำ


รายงาน Greenpeace คาดการณ์ว่า ในปี 2030 พื้นที่ 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ จะเผชิญน้ำท่วมครั้งใหญ่กว่าปกติในรอบ 10 ปี จากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศราว 18 ล้านล้านบาท คิดเป็น 96% ของ GDP ประเทศ และประชาชนมากกว่า 10.45 ล้านคนได้รับผลกระทบ สอดคล้องกับผลการศึกษาของธนาคารโลก ที่ระบุว่า ในปี 2030 กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้บาดาล 


การที่กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงจะกลายเป็นทะเล ปัจจัยหนึ่งเนื่องจากเมืองหลวงไทย อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำลาดลงเป็นก้นกระทะ อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลเพียงแค่ 1.5 เมตร และเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ก็ส่งผลให้กรุงเทพฯ เสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำได้อย่างรวดเร็ว  


นอกจากนี้ การเร่งขยายตัวเมืองที่มากเกินไป ก็ส่งผลให้พื้นดินของเมืองทรุดลงเรื่อย   


ทั้งนี้ ทางรัฐบาลก็พยายามวางมาตรการในการรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนของโลก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจ และชีวิตผู้คน  


และไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือ น้ำท่วม สิ่งต่าง  เหล่านี้ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกทั้งสิ้น ซึ่งถ้าหากเรายังไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนนี้ได้ ก็จะยิ่งทำให้เกิดภัยพิบัติมาถึงตัวเราได้เร็วมากยิ่งขึ้น


แปล-เรียบเรียงพรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 


ข้อมูลอ้างอิง

Greenpeace (1), Greenpeace (2), Earth.ORG, TNN, BBC, Berkeleyearth, LA Times, NASA, Wionews

ข่าวแนะนำ