ไข้หวัดใหญ่ เรื่องใหญ่ ของคนรุ่นใหญ่
“ไข้หวัดใหญ่ เรื่องใหญ่ ของคนรุ่นใหญ่ เลือกวัคซีนอย่างไร? ที่ใช่สำหรับคุณ”
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยว่า ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่จะระบาดหนักในช่วงหน้าฝนเพราะสาเหตุสำคัญหนึ่งคือโรงเรียนเปิด การที่เด็กๆ อยู่รวมกันทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นแม้อาการของไข้หวัดใหญ่ในเด็กจะไม่รุนแรงแต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือการนำเชื้อโรคแพร่เชื้อเข้าสู่คนในครอบครัวซึ่งการแพร่เชื้อที่น่ากังวลที่สุดคือการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ไปสู่ผู้สูงอายุ ที่เมื่อป่วยจากไข้หวัดใหญ่แล้วมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดเมื่อไหร่
ในประเทศไทยวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีความพร้อมฉีดในช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปีต่อเนื่องไปยังเดือนตุลาคมของทุกปีก่อนที่จะเข้าหน้าฝนซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะที่จะฉีดวัคซีนถ้าถามว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดเมื่อไหร่
คือเมื่อมีวัคซีนพร้อมแล้วก็สามารถฉีดได้เลย ในฐานะแพทย์มีหลักการง่ายๆคือ “เก็บวัคซีนในร่างกายดีกว่าเก็บวัคซีนในตู้เย็น” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
สถิติการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย
ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ทุกคนสวมหน้ากาก ส่วนใหญ่อยู่บ้าน โรงเรียนปิด ไข้หวัดใหญ่จึงไม่ระบาดแต่หลังจากปี 2566 สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายโรงเรียนเปิด ผู้คนออกมาใช้ชีวิตมีปฏิสัมพันธ์ตามปกติ เพราะฉะนั้นโรคไข้หวัดใหญ่จึงกลับมาระบาดมากขึ้น ข้อมูลสถานการณ์ในปี 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 472,222 คน เสียชีวิต 29 คน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567–17 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานผู้ป่วย 63,648 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา
แต่เชื่อได้ว่าตามรายงานของโรคไข้หวัดใหญ่น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะบางคนเมื่อป่วยแล้วรักษาตัวอยู่บ้านกินยาเองก็จะไม่ได้รับการรายงาน โดยคาดว่าในระดับโลกน่าจะมีผู้เสียชีวิตกว่าแสนคนจากไข้หวัดใหญ่และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
แต่ละช่วงวัยมีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่อย่างไรบ้าง
สำหรับในเด็กเล็กในวัย 6 เดือน ถึง 3 ปี ส่วนใหญ่ยังอยู่บ้านการติดเชื้อจึงจะมาจากกลุ่มเด็กโตที่ไปเรียนหนังสือซึ่งจะเป็นคนนำเชื้อเข้ามาแพร่ให้คนในครอบครัวซึ่งสำหรับกลุ่มเด็กคือ “กลุ่มเสี่ยงเป็น” สำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานมักจะแข็งแรงดีอาการป่วยมักจะไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามการป่วยย่อมมีผลกระทบต่อการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ดูแลลูกหลาน ไม่ได้ไปทำงานตามปกติ ขาดรายได้ แม้อาการไม่รุนแรง กินยานอนอยู่บ้านก็หายแต่ต้องเข้าใจว่าวันนั้นก็จะทำงานไม่ได้ ขายของไม่ได้ และถ้าอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลก็อาจจะส่งผลให้เสียรายได้ทั้งหมดนี้คือผลกระทบทางอ้อมของโรคไข้หวัดใหญ่
แต่ผลกระทบทางตรงคือร่างกายต้องเจ็บป่วยต้องเสียเงินค่ายารักษาเพราะฉะนั้นการที่ต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจของโรคไข้หวัดใหญ่จึงเป็นภาระโรคที่สำคัญ ทางภาครัฐจึงคิดคำนวณความเสียหายและจัดหาวัคซีนสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงปรากฏว่ามีความคุ้มค่าและคุ้มทุนมาก
แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือผู้สูงอายุที่อยู่ในครอบครัวท่านไปถึงจุดที่ร่างกายเริ่มอ่อนแอมีโรคประจำตัวการต่อสู้กับเชื้อโรคอ่อนแอลงพอได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการที่รุนแรง ถึงอาจจะเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นวัคซีนจะช่วยในการป้องกันการติดเชื้อลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตได้ในทุกเพศทุกวัย
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ปัจจุบันมีกี่ขนาดมีความแตกต่างกันอย่างไรและเหมาะกับใครบ้าง
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีหลายชนิดแต่ที่อยากจะกล่าวถึงคือวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบขนาดยามาตรฐานซึ่งใช้มานานกว่า 80 ปีเพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยสูงและได้ประสิทธิผลพอสมควร และยังมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดยาสูงที่เพิ่งพัฒนาออกมาเพื่อให้เหมาะกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะเพราะผู้สูงอายุคือกลุ่มที่เป็นไข้หวัดใหญ่แล้วอาการรุนแรงและการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐานต่ำกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ดังนั้นจะมีการเพิ่มขนาดของส่วนประกอบของวัคซีนเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 4 เท่าให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยพบว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูงสามารถลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้มากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน ร้อยละ 24.2 และยังลดการนอนโรงพยาบาลจากโรคไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 64.4 และลดการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 48.9 นับเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปทั้งที่มีโรคประจำตัวและไม่มีโรคประจำตัว
เมื่อฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วสามารถป้องกันและลดความรุนแรงได้กี่เปอร์เซ็นต์
วัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบขนาดมาตรฐานสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 50-60% แต่สามารถป้องกันความรุนแรงการติดเชื้อลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตได้สูงกว่านั้น
ทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผย อีกว่า หนึ่งปีเราจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หนึ่งครั้ง โดยประเทศในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จะมีฤดูกาลระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ชัดเจนมาก คือหน้าหนาว (พฤศจิกายน-มีนาคม) เพราะเชื้อจะมีชีวิตอยู่ในได้นานและคนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ส่วนในประเทศไทยนิยมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วงเมษายน-ตุลาคมของทุกปี ในประเทศเหล่านี้จะฉีดปีละครั้ง
แต่สำหรับในประเทศไทยไข้หวัดใหญ่ระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่จะระบาดเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าฝน ซึ่งการฉีด 1 เข็มจะสามารถครอบคลุมได้เกือบตลอดทั้งปีมีเพียงบางกรณีที่จะต้องฉีดสองเข็มในหนึ่งปี มีอยู่ 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 เด็กเล็ก (อายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 9 ปี) ซึ่งฉีดเป็นปีแรกปีแรกต้องฉีดสองเข็มห่างกันประมาณ 1 เดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น
กรณีที่ 2 มีโรคประจำตัวที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำมากพวกนี้เราจะฉีดปีละสองครั้ง
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีผลข้างเคียงหรือไม่
จากการทำงานอยู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มา 40 ปี วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุด ในประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในทวีปยุโรปอาจจะเรียกได้ว่าเป็นวัคซีนแบบ drive thru คือสามารถเข้าไปฉีดและไปได้เลยโดยไม่ต้องแพทย์สั่ง แต่กระนั้นเมื่อฉีดแล้วก็ยังมีคนบอกว่ามีอาการปวดเมื่อยซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา คนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการไข้ ปวดเมื่อย มีประมาณ 5-10% ที่เหลืออีก 90% ไม่มีอาการอะไรเลย เพราะฉะนั้นยืนยันว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยมาก
สุดท้าย ไข้หวัดใหญ่ยังระบาดทุกปีเรายังจำเป็นต้องระวังในเรื่องการดูแลสุขภาพ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ นอกจากนี้ขณะนี้มีวัคซีนแล้วเราก็ควรที่จะฉีดวัคซีน โดยวัคซีนจะเริ่มมาในช่วงเดือนปลายมีนาคมไปจนถึงเมษายนและมีต่อเนื่องไปจนถึงตุลาคมของทุกปี อย่างที่กล่าวไปข้างต้น “เก็บวัคซีนไว้ในร่างกายดีกว่าเก็บในตู้เย็น” เพราะวัคซีนได้ทำงาน และ “กลุ่มเสี่ยงที่ติดไข้หวัดใหญ่คือเด็กนักเรียนแต่กลุ่มที่เสี่ยงต่อโรครุนแรงและอาจเสียชีวิตก็คือผู้สูงอายุ” เพราะฉะนั้นวัคซีนเป็นมาตรการที่คุ้มค่าคุ้มทุนมากที่สุดในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จึงขอแนะนำให้ประชาชนปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เหมาะสมทันทีก่อนเข้าหน้าฝน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าว
ข้อมูลจาก: รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่
ข่าวแนะนำ