ส.อ.ท. เปิด 7 อุตสาหกรรมเผชิญวิกฤติใหญ่ ภาษี ‘ทรัมป์’ คาดเสียหาย 8-9 แสนล้าน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้หารือแนวทางรับมือหลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่ไทยโดนเก็บภาษีสูงถึง 36% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ เพื่อระดมสมองหามาตรการรับมือ ซึ่งคาดมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว ราว 8-9 แสนล้านบาท

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์ เพราะอัตราภาษีสูงขึ้นทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ดังนี้

1.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ถูกเก็บภาษีอัตรา 25% ตั้งแต่เดือนมี.ค.2568 อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทแม่ในการย้ายฐานการผลิต ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐมากกว่ารถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง

2.อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่า และกุ้งแปรรูป ซึ่งเดิมอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย 

3.อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจระหว่าง 5-6 พันล้านดอลลาร์ กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก หากอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 36% อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และสูญเสียส่วนแบ่งตลาด

4.อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ 2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด ซึ่งอาจลดลงหากมาตรการภาษีของสหรัฐยังคงดำเนินต่อไป 

ส.อ.ท. เปิด 7 อุตสาหกรรมเผชิญวิกฤติใหญ่ ภาษี ‘ทรัมป์’ คาดเสียหาย 8-9 แสนล้าน

สรุปข่าว

ส.อ.ท. ได้หารือแนวทางรับมือหลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่ไทยโดนเก็บภาษีสูงถึง 36% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ เพื่อระดมสมองหามาตรการรับมือ ซึ่งคาดมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว ราว 8-9 แสนล้านบาท

5.อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุปกรณ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบชัดเจนมูลค่าการค้าลดลงจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์ เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์

6.อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจต้องชะลอการผลิต และการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศอาจปฏิเสธรับมอบสินค้าไทยเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูง 

7.อุตสาหกรรมเหล็ก และกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกเก็บภาษี 25% ตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกไปสหรัฐสูงขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อาจต้องเผชิญคำสั่งซื้อลดลง และกระทบความสามารถการแข่งขันเพราะคู่แข่งจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ารักษาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้ 

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม ที่อาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ได้เเก่ อุตสาหกรรมรองเท้า เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและกัมพูชา ถูกเก็บภาษีสูงกว่า ทำให้สินค้าไทยแข่งขันในตลาดสหรัฐได้ดีขึ้น

สำหรับมาตรการรับมือ และหารือกับสหรัฐ อาทิ 

1. เจรจาสร้างความสมดุลการค้าสหรัฐทั้งการนำเข้า และส่งออก โดยเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์ เช่น การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพื่อมาแปรรูป และส่งออกมากขึ้น

2. แก้กฎหมาย และภาษีนำเข้าไทย เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะนำเข้าจากสหรัฐ ประมาณ 4-5 รายการ เช่น ข้าวโพด และปลาทูน่า เป็นต้น

3. ออกมาตรการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผลิตจากในประเทศไทยจริง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และแผงโซลาร์เซลล์

4. ทบทวนภาษี และมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) เช่น กรณีรถมอเตอร์ไซค์ที่ไทยมีการตั้งภาษีไว้สูง

ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะศึกษาข้อมูลภายในกลุ่มเพิ่มเติมว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด และหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อ ส.อ.ท. เสนอแนวทางให้รัฐบาลพิจารณา

โดยให้ ภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมเจรจาเพื่อเตรียมรับมือนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองกับสหรัฐ เบื้องต้นมีกรอบสินค้าเกษตรหลายตัวที่จะเปิดให้นำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงสินค้าหนัก เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินรบ โดรน เป็นต้น 

ที่มาข้อมูล : ส.อ.ท.

ที่มารูปภาพ : TNN Wealth

avatar

ธนานันท์ แก้ววิเศษ

แท็กบทความ

ส.อ.ท.ประกาศภาษีตอบโต้Reciprocal Tariffs
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ภาษีทรัมป์