จับตาวิกฤตค่ายรถญี่ปุ่น ที่กระทบหนักจากการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ
นอกจากการขึ้นภาษีตอบโต้ สำหรับการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นในอัตรา 24 %
ยังมีตัวของภาษีนำเข้ารถยนต์ทุกชนิดที่ขึ้นภาษีมากถึง 25 %
สำหรับรถทุกคันที่นำเข้ามาในประเทศ รวมไปถึงส่วนประกอบสำคัญต่างๆด้วย
เพราะการส่งออกรถยนต์เป็นรายได้หลักของญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 % ของจีดีพี
วันนี้ญี่ปุ่นจึงเสี่ยงกับภาวะ "เศรษฐกิจถดถอย" ได้หากแก้ไขอะไรไม่ทัน
ขณะที่นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้กล่าวว่าการจัดเก็บภาษีของทรัมป์ที่มีต่อญีปุ่นนั้น คือ "วิกฤตระดับชาติ"
และรัฐบาลกำลังร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อดำเนินมาตรการรับมืออย่างดีที่สุด
เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เน้นการส่งออก ครองตำแหน่งนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2019
ด้านสำนักข่าว CNBC รายงานเรื่องนี้ระบุว่า การประกาศ ภาษีนำเข้ารถยนต์ ล่าสุดของสหรัฐ
ได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์
โดยเฉพาะค่ายรถจากเอเชียที่ต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25%
สำหรับรถยนต์ที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐ ส่งผลให้หุ้นของผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกร่วงทันที
เช่น หุ้น Toyota ร่วงลง 9.4% ภายใน 3 วันหลังจากการประกาศ
ขณะที่หุ้น Nissan ลดลง 9.3% และหุ้น Hyundai จากเกาหลีใต้ ลดลงถึง 11.2%
ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทวิจัย Frost & Sullivan คาดว่าบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
โดยเฉพาะ Toyota ซึ่งเป็นค่ายที่มียอดขายในตลาดสหรัฐสูงที่สุด
จึงหมายความว่าจะมีผลกระทบมากที่สุดเช่นกัน จากมาตรการภาษีใหม่ครั้งนี้
สรุปข่าว
จากข้อมูลของ Carpro แพลตฟอร์มซื้อขายรถยนต์ในสหรัฐ ในปี 2567
ผู้ผลิตรถยนต์จากเอเชียครอง 6 อันดับ จาก 8 อันดับแรกของยอดขายในตลาดสหรัฐ
Toyota ครองอันดับ 1 ด้วยยอดขาย 1.98 ล้านคัน
แซงหน้าแบรนด์อเมริกันอย่าง Ford และ Chevrolet
อันดับแบรนด์เอเชียในตลาดสหรัฐ ปี 2567 ได้แก่
อันดับ 1 Toyota
อันดับ 4 Honda (ญี่ปุ่น)
อันดับ 5 Nissan (ญี่ปุ่น)
อันดับ 6 และ 7 Hyundai และ Kia (เกาหลีใต้)
อันดับ 8 Subaru (ญี่ปุ่น)
จากรายงานทางการเงินล่าสุดของบริษัทเหล่านี้ พบว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากตลาดอเมริกาเหนือ
ดังนั้นการหาตลาดทดแทนหรือหารายได้มาชดเชยย่อมไม่ง่ายอย่างที่คิด
โจทย์ใหญ่ โจทย์ยาก และต้องหาทางแก้ให้เร็วที่สุด
ก่อนที่เศรษฐกิจจะพังทลาย
นายกฯของญี่ปุ่นหวังเต็มที่ว่าจะหาทางเจรจาต่อรองกับสหรัฐให้ได้
เพราะการย้ายโรงงานไปสหรัฐก็ไม่คุ้มค่ากับการแลก
ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ออกมายืนยันว่า
จะทำทุกวิถีทางเพื่อเจรจาต่อรองให้สหรัฐฯ ยกเว้นการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่น
หลังจากรู้ข่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษี 25% กับรถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ
ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน
และทรัมป์คาดว่าจะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยอัตราภาษีศุลกากรใหม่จะถูกเรียกเก็บเพิ่มเติมจากภาษีที่มีอยู่แล้ว เป็น 27.5% และ 50% ตามลำดับ
จากอัตราภาษีปัจจุบันที่ 2.5% สำหรับรถยนต์โดย และ 25% สำหรับรถกระบะ
นอกจากนี้การขึ้นภาษีดังกล่าว ยังรวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง
อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้ารถยนต์ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี “USMCA” ซึ่งสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดาลงนามร่วมกัน
จะได้รับโอกาสในการรับรองว่าชิ้นส่วนใดผลิตในสหรัฐฯ
เพื่อให้มั่นใจว่าการเรียกเก็บภาษี 25% นั้นจะถูกใช้กับชิ้นส่วนที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ เท่านั้น
ดังนั้นจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
ชิ้นส่วนรถยนต์ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง USMCA จะยังคงได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร
ด้านค่ายผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นออกแถลงการณ์หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้า
โดยบริษัทโตโยต้า ซูบารุ มาสด้า และฮอนด้า ระบุว่าพวกเขากำลังประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนความเห็นในเรื่องนี้จากนักเศรษฐศาสตร์ มองว่าญี่ปุ่นจะหาทางเจรจาต่อรองจากสินค้าทุกกลุ่มที่ทำได้
และไม่ใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐ เพราะได้ประโยชน์น้อย
โคอิจิ ฟูจิชิโร (Koichi Fujishiro) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัย Dai-ichi Life
ให้ความเห็นว่า ในบรรดาตัวเลือกที่ญี่ปุ่นน่าจะใช้เป็นข้อต่อรองในการเจรจาภาษีรถยนต์กับสหรัฐฯ
อาจมีทั้งการจำกัดการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นโดยสมัครใจ, การเพิ่มการนำเข้าสินค้า
เช่น ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืชและเนื้อสัตว์ โดยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ แทนรัสเซีย
ข้อมูลล่าสุดในปี 2023 ญี่ปุ่นนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย 8.9% มากกว่าสหรัฐฯ ที่ 7.2%
รถยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศญี่ปุ่น
และที่ผ่านมาก็ส่งออกไปยังสหรัฐมากที่สุด
มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
คิดแล้วเป็นสัดส่วนมากถึง 28 % การส่งออกทั้งหมดของประเทศ
และมูลค่าคิดเป็น 1 % ของจีดีพี
รถยนต์เป็นสินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุด
โดยมีมูลค่ารวม 6 ล้านล้านเยน (4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
และคิดเป็น 28% ของการส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่นในปี 2024
ซึ่งมูลค่าดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในป ระเทศของญี่ปุ่น
ทาคาฮิเดะ คิอูจิ (Takahide Kiuchi) จากสถาบันวิจัยโนมูระ ประเมินว่าภาษี 25%
จะทำให้การส่งออกรถยนต์ญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ ลดลง 15% ถึง 20% ส่งผลให้ GDP ของญี่ปุ่นลดลง 0.2%
และหากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นพยายามรับมือมาตรการขึ้นภาษี ด้วยการย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ
จะทำให้การจ้างงานภายในประเทศลดลงและส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นถดถอยในระยะยาว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกหันมาผลิตในประเทศมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการค้า
ดังนั้น รถยนต์ญี่ปุ่น 60% ที่ขายในสหรัฐอเมริกาจึงผลิตในสหรัฐอเมริกา
ค่ายรถญี่ปุ่น ภายใต้เงา ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ จะเป็นอย่างไรต่อไป
ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง หรือ สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องนำไปแลก
เป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียดอย่างหนัก เช่นเดียวกับทั่วโลกตอนนี้ที่ต่างก็รับผลกระทบอย่างหนัก
จากนโยบายของทรัมป์ ทั้งทางตรง และทางอ้อม
ที่มาข้อมูล : CNBC / Nikkei Asia /Reuters
ที่มารูปภาพ : TNN

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด