
จับกระแสร้อน วิกฤตภาษีทรัมป์ 37 % กระทบเศรษฐกิจไทย
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรใหม่
โดยเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐานในอัตรา 10% จากทุกประเทศ (จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 %)
และเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ในอัตราสูงสุด 46 % เป็นการเก็บเพิ่มเติมกับคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่เกินดุลการค้า กว่า 60 ประเทศ/เขตดินแดน
เช่น จีนที่ถูกเรียกเก็บ 34%, อินเดีย 26%, เกาหลีใต้ 25%, ญี่ปุ่น 24% และสหภาพยุโรป (EU) 20%
โดยเฉพาะจีนที่โดนไปแล้ว 2 รอบก่อนหน้า 20 % เท่ากับ ณ วันนี้ รวมภาษีที่สหรัฐขึ้นมาทั้งหมด 54 %
ขณะที่ประเทศไทย ถูกรีดภาษีที่ 37 %
โดยอัตราดังกล่าวสูงเป็นลำดับที่ 5 ของอาเซียน
ประกอบไปด้วย
กัมพูชา 49%, ลาว 48% เวียดนาม 46%, เมียนมา 44%, ไทย 36%,
อินโดนีเซีย 32%, บรูไน 24%, มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10%
เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวระบุว่า ภาษีศุลกากรพื้นฐานทุกประเทศจะมีผลบังคับใช้ในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2568
ขณะที่ภาษีศุลกากรตอบโต้จะมีผลบังคับใช้ในวันพุธที่ 9 เมษายน 2568

สรุปข่าว
การประกาศขึ้นภาษีในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศแห่งความภูมิใจของผู้นำสหรัฐฯ
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศมาตรการภาษีนี้ภายใต้งานอีเวนต์ที่ชื่อว่า “Make America Wealthy Again”
หรือทำให้อเมริกามั่งคั่งร่ำรวยอีกครั้ง จัดขึ้นที่ลานโรส การ์เดนในทำเนียบขาว
พร้อมตั้งชื่อวันที่มีการประกาศภาษีว่าเป็น “วันแห่งการปลดปล่อย” สำหรับสหรัฐอเมริกา
โดยอ้างและย้ำว่าประชาชนชาวอเมริกันผู้เสียภาษีถูกขูดรีดมานานกว่า 50 ปี
ดังนั้นมาตรการภาษี “ตอบโต้” เป็นการตอบโต้ต่อภาษีที่เรียกเก็บกับสินค้าสหรัฐฯ
และเชื่อว่าอัตราภาษีใหม่นี้จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคการผลิตในสหรัฐฯได้มากขึ้น
กำแพงภาษีจะช่วยปกป้องอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างยุติธรรม
เพิ่มรายได้ให้รัฐปีละ 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างแต้มต่อในการเจรจาการค้าในอนาคต
ส่วนผลกระทบของไทยหลังจากนี้ "ความหวัง" อยู่ที่ "การเจรจาต่อรอง"
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกหนังสือแถลงการณ์ทันที
เรื่อง "ท่าทีของประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา"
ยืนยันจุดยืนว่าไทยพร้อมหารือสหรัฐปรับดุลการค้าให้เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
โดยกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าสิ่งที่ไทยเตรียมการไปเจรจากับสหรัฐ มี 3 มาตรการ คือ
1. ปรับลดภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ
2. เพิ่มการนำเข้าสินค้าบางรายการที่ยังไม่เคยนำเข้า
3. ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า เช่น การตรวจสอบสินค้าที่อาจอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ 15 สินค้า ที่เคยส่งออกไปยังสหรัฐมุลค่าสูงที่สุด
อาทิ สินค้าเกี่ยวกับโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า
ส่วนสินค้าเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบ คือ ข้าวหอมมะลิ
อย่างไรก็ตามมุมมองในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายฝ่ายยังไม่สามารถประเมินได้ทันท่วงที
เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ประเทศไทยเองก็เพิ่งเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว
แต่เบื้องต้น ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ประเมินว่า กระทบของมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของรัฐบาล ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
คาดว่า จะมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยลดลงประมาณ 359,104 ล้านบาท
ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ -1.93% ของ GDP
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
กล่าวว่า ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งการที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีไทยที่ 37%
และทั้งโลกยังโดนเก็บภาษีในอัตราเฉลี่ย 10% ถือว่ามากกว่าคาด
ทำให้ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทยมีมากขึ้น และมองว่าผลกระทบครั้งนี้อยู่ในระดับสูง
หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างไร
รัฐบาลต้องดูผลกระทบรอบด้าน ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ไทยอาจจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น
เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวม รัฐและเอกชนต้องพูดคุยกัน และดูถึงผลกระทบต่อประชาชนด้วย
ทั้งนี้ เน้นย้ำว่าการลดผลกระทบเป็นสิ่งสำคัญมาก
และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้เงินหายไปประมาณ 200,000-350,000 ล้านบาท
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ถ้าจำเป็นต้องใช้ จะต้องมีสเกลที่ใหญ่เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้รับผลกระทบในวงกว้าง
ดังนั้น การใช้เงินของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ควรทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน และเงินสะพัด และควรใช้มาตรการทางการเงินผสมผสาน
เติมสภาพคล่องของธุรกิจที่เริ่มมีปัญหาจากการค้าขาย ส่งออกที่อาจถดถอยลง
ส่วนในภาพรวมประเมินว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว และมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 374,851.8 ล้านบาท
คิดเป็น 2.02% ของ GDP
ที่มาข้อมูล : TNN
ที่มารูปภาพ : TNN Reuters canva

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด