CREDIT รุกขยายฐาน SME ดันพอร์ตสินเชื่อโต 2 หลัก อัพมาร์เก็ตแชร์ 8% เดินหน้าคุม NPL ใกล้เคียงปีก่อนที่ 3.7%

นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT เปิดเผยว่า ในปี 2568 ธนาคารตั้งเป้าในการขยายพอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีเติบโตในระดับ 2 หลัก นับเป็นเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากในปี 2567 ที่ธนาคารฯ มีอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีอยู่ที่ 12.8% จากปี 2566

สรุปข่าว
ถึงแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันจะมีความเสี่ยงที่มากขึ้น แต่ด้วยธนาคารมีความใกล้ชิดกับฐานลูกค้า และเข้าใจความต้องการของ SME รงมถึงเข้าใจความเสี่ยง จึงมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2568 อยู่ที่ 5-6 หมื่นล้านบาท ทั้งในกลุ่มของสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี และสินเชื่อนาโนไมโครไฟแนนซ์ โดยธนาคารมุ่งเน้นที่จะมีการกระจายยังสินเชื่อในหลากหลายธุรกิจ และหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตสินเชื่อรวม
โดย "สินเชื่อ SME กล้าสู้" คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่สำหรับลูกค้า 3-5 พันราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อราว 1-1.5 หมื่นล้านบาท และ "สินเชื่อ SME กล้าให้เต็ม MAX" คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ได้มากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท โดยมีการขยายเพดานวงเงินสูงสุดสินเชื่อ SME กล้าให้ จากเดิม 35 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีอย่างเต็มศักยภาพ โดยในปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่กลุ่มไมโครเอสเอ็มอี 70% กลุ่มนาโนไมโครไฟแนนซ์ 20% และสินเชื่ออื่น ๆ เช่นที่อยู่อาศัย 10%
โดยตลอดระยะเวลา 6 ปี "สินเชื่อ SME กล้าให้" มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเดิม 2% ในปี 2562 ขยายตัวเป็น 8% ในปี 2567 นอกจากส่วนแบ่งทางการตลาดแล้ว สินเชื่อในกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีของธนาคารฯ ยังมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นในหลายด้าน อาทิ ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ (New Booking Volume) ตั้งแต่ปี 2562-2567 รวมกว่า 180,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเคสในการปล่อยสินเชื่อรวมมากกว่า 28,000 เคส พอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี (Loan Balance) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ระหว่างปี 2562-2567 อยู่ที่ 26.9% ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีของธนาคารฯ มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท
ในขณะเดียวกันธนาคารให้ความสำคัญกับการควบคุมอัตราหนี้เสีย หรือ NPL ควบคู่ไปกับการขยายตัวของสินเชื่อ โดยในปี 2567 ธนาคารมีอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีอยู่ที่ 12.8% จากปี 2566 มีอัตราหนี้เสียอยู่ที่ 3.7% สวนทางกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อธุรกิจประเภทวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท อยู่ที่ -5% จากปี 2566 และมีอัตราหนี้เสียอยู่ที่ 7.01%
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2568 ธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ถึงแม้จะมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ธนาคารมีความเชื่อมั่นว่า ด้วยระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เป็นระบบ จะไม่ทำให้ตัวเลข NPL ของสินเชื่อที่มีความยืดหยุ่น ไปกระทบกับภาพรวม NPL ของสินเชื่อรวม
ที่มาข้อมูล : บริษัทจดทะเบียน
ที่มารูปภาพ : TNN

มงคล เกษตรเวทิน