"เทสลา" บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐฯ ของอภิมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลก "อีลอน มัสก์" กำลังเผชิญกับ "วิกฤต" ครั้งใหญ่
ไม่ใช่แค่ในแง่การตลาดหรือยอดขาย แต่วันนี้ถูกโยงใยไปถึงการเมืองทั้งในประเทศจนถึงระดับโลก
สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุโจมตีรถยนต์เทสลา ทั้งในโชว์รูมและสถานีชาร์จ ตลอดจนทรัพย์สินที่มีโลโก้ บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของนายอีลอน มัสก์ หลายแห่งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่แสดงให้เห็นว่า มีความไม่พอใจการทำหน้าที่ของนายมัสก์ในทำเนียบขาวมากขึ้น
เช่น การวางเพลิงรถยนต์เทสลาที่จอดอยู่ในลานจอดของศูนย์ซ่อมรถยนต์ ของโชว์รูมเทสลาในลาสเวกัส มีรถเสียหายบางส่วน 5 คันและอีก 2 คันถูกไฟไหม้ทั้งหมด ส่วนที่ประตูของโชว์รูม ถูกพ่นข้อความกราฟฟิตีเป็นคำว่า "ต่อต้าน" (RESIST) ซึ่งตำรวจยืนยันว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการวางเพลิง โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม เกิดเหตุโจมตีด้วยระเบิดเพลิงที่โชว์รูมเทสลาแล้ว 3 ครั้ง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า การก่อเหตุเหล่านี้อาจถือเป็นการก่อการร้าย หน่วยงานปฏิบัติการร่วมต่อต้านการก่อการร้ายของเอฟบีไอ กำลังเร่งสืบสวนการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่า อาจเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านอีลอน มัสก์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานด้านประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาล (DOGE) ที่กำลังปฏิรูปการทำงานของรัฐบาลกลางด้วยการตัดงบประมาณครั้งใหญ่และการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน
ปรากฎการณ์และความเคลื่อนไหวนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลต่อนักลงทุน หลังจากปีที่ผ่านมา เทสลา ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระดับโลกจากฝั่งสหรัฐฯ เพิ่งถูก EV จากค่ายจีน อย่างบีวายดี BYD แซงหน้ายอดขายไปสดๆร้อนๆ แม้จะมีความพยายามลดราคาแข่งแล้วก็ตาม และจนถึงตอนนี้ดูเหมือนเทสลาก็ยังไม่สามารถพลิกเกมกลับมาได้
โดยเฉพาะล่าสุดตอนนี้ ยังเกิดความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน การโต้ตอบกันด้วยมาตรการภาษีของนานาประเทศ และที่สำคัญที่สุด คือ การที่อีลอน มัสก์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเทสลา เข้าไปร่วมกับเกมการเมืองด้วยอย่างเต็มตัว ไม่ใช่เพียงแค่ฐานะของผู้สนับสนุน แต่มัสก์ยืนเคียงข้างโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในฐานะมือขวา ที่แม้จะมีเสียงตอบรับที่ดีจากฝั่งผู้สนับสนุน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง ทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยเช่นกัน
สรุปข่าว
ยอดขายรถ เทสลา ลดลงต่อเนื่องทั้งในตลาดจีน และยุโรป นับตั้งแต่ต้นปีทีผ่านมา หรือนับตั้งแต่ผ่านพ้นการเลือกตั้งสหรัฐฯ
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยโรโมชั่น ระบุว่า เทสลา (Tesla) กำลังเสียส่วนแบ่งตลาดในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่สำคัญที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง
โดยยอดขายของเทสลา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ติดลบมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ก่อนเหลือเพียง 30,688 คัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง และยังเป็นยอดที่หดตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนมกราคมอีกด้วย ขณะที่ตลาดยุโรปเองก็ไม่สดใส จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ยุโรป ยอดจดทะเบียนรถ เทสลา ทั่วสหภาพยุโรป นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2024 ถึง มกราคม 2025 ก็ลดลงมากถึง 45 %
การหดตัวครั้ง ถือว่าสวนทางกับภาพรวมตลาดอีวีทั่วโลก และที่ต้องจับตา คือ ในขณะที่เทสลาขายได้น้อยลง แต่ยอดขายของ บีวายดี (BYD) คู่แข่งรายสำคัญกลับพุ่งขึ้น บีวายดี (BYD) เปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มียอดขายรถยนต์ทั่วโลกถึง 322,846 คัน เพิ่มขึ้น 8.9% จากเดือนมกราคม ส่วนยอดส่งออกที่ 67,025 คัน โตขึ้น 187% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งๆที่จีนกำลังเจอกับปัญหาเรื่องกำแพงภาษี หลังจากสหภาพยุโรปกําหนดภาษีรถยนต์ที่ผลิตในจีน เมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา รวมถึงสหรัฐฯ และแคนาดา ที่เตรียมขึ้นภาษี 100% สำหรับรถอีวีที่ผลิตในจีน และเตรียมรีดสูงขึ้นอีกในยุคของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์
เช่นเดียวกับหุ้นของเทสลา จากที่เคยพุ่งแรงหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ กลับจมดิ่ง ผันผวนอย่างหนัก นับตั้งแต่วันที่ทรัมป์ ได้ตั้งให้อีลอน มัสก์ มีตำแหน่งทางการเมือง ทำหน้าที่คุมงบ หั่นงบ และปลดคน
แม้จะมีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุของยอดขายที่ตกต่ำลงของเทสลา มาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และปัญหาการผลิต เช่น ยอดขายที่ลดลงของเทสลา เกิดขึ้นในช่วงที่โรงงานผลิตในจีน หยุดการผลิตพอดี เพื่ออัปเกรดสายการผลิตสำหรับการเปิดตัวรถ โมเดล วาย (Model Y) รุ่นล่าสุด รวมถึงรถอีจีค่ายจีน ก็หันมาเดินเกมด้วยเอไอ มีการใส่ระบบอัตโนมัติเทคโนโลยีขั้นสูงลงไปแบบไม่อั้น แม้จะเป็นรุ่นราคาถูกก็ตาม
แต่สิ่งหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ คือ การที่อีลอน มัสก์ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่้นของนักลงทุน ในช่วงแรกๆ หลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ราคาหุ้นเทสลา ปรับสูงขึ้นมาก เพราะนักลงทุนคาดการณ์ว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่าง มัสก์ และ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นประโยชน์แก่เทสลา แต่หลังจากนั้นทิศทางก็ตรงกันข้าม หุ้นเทสลาดิ่งลงอย่างหนัก
อีลอน มัสก์ มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ภายใต้การบริหารประเทศ ของประธานาธิบดีทรัมป์ และอยู่เคียงนับตั้งแต่วันหาเสียง จนถึงวันทำงานในห้องทำงานรูปไข่ ในทำเนียบขาว มัสก์ได้นั่งกุมอำนาจกระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล หรือ Department of Government Efficiency (Doge) แม้จะไม่ใช่กระทรวงอย่างเป็นทางการ แต่อำนาจก็ยิ่งใหญ่ หน้าที่หลัก คือ ไปปฎิรูประบบราชการต่างๆ เอาคนออก ยุบกระทรวงต่างๆ เพื่อตัดงบคุมเกม ลดความสิ้นเปลือง และการมัสก์ก็ทำจริง เลิกจ้างไปแล้วอย่างน้อย 6หมื่นตำแหน่ง จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก กลายเป็นกระแสรวมตัวชุมนุมประท้วงตอบโต้ อีลอน มัสก์ ที่เรียกว่า เทสลา เทกดาวน์ (Tesla Takedown) หรือการโค่น เทสลา และมีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การประท้วงของผู้ชุมนุมราว 350 คน หน้าตัวแทนจำหน่ายเทสลาในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน รวมไปถึงการประท้วงในนครนิวยอร์กที่มีผู้ถูกจับกุม 9 คนเมื่อต้นมีนาคมที่ผ่านมา
การต่อต้านอิลอน มัสก์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และหุ้นของเทสลาก็ดูมืดมน แต่คนที่ไม่ทิ้งมัสก์ ก็ คือ ทรัมป์ ที่ประกาศเรียกอิลอน มัสก์ ว่าคนรักชาติ ซื้อรถเทสลาโชว์สื่อ และประกาศจับคนที่โจมตีเทสลา
หลังจากหุ้นเทสลาตกต่ำที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี ดูเหมือนผู้นำสหรัฐฯตั้งใจช่วย เรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาในหมู่นักลงทุน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนทำเนียบขาว ให้กลายเป็นโชว์รูมชั่วคราวของบริษัท เทสลา (Tesla) ด้วยการนำรถเทสลา 5 รุ่น 5 คันมาจอดโชว์และเลือกซื้อ ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมงทรัมป์โพสต์บนทรูธ โซเชียล ว่าเขาวางแผนจะซื้อรถพลังงานไฟฟ้าเทสลา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการสนับสนุนมัสก์ ในฐานะที่มาช่วยทำงานเป็นที่ปรึกษา
ทรัมป์ได้จ่ายเงินรซื้อรถ Tesla Model S สีแดงที่หน้าทำเนียบขาว ระหว่างการซื้อรถ ทรัมป์กล่าวถึงมัสก์ว่าเป็น "ผู้รักชาติ" ที่ถูกใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม และยกย่องว่าการทำงานของเค้าช่วยลดรายจ่ายของรัฐบาล
ช่วยยุติต้นตอการฉ้อโกงและทุจริตได้หลายพันล้านดอลลาร์ โดยไม่สนใจข้อครหาว่ามัสก์ นั้นอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ตาม
พร้อมกันนี้ทรัมป์เตือนคนที่ก่อจลาจลด้วยว่า จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อผู้ก่อเหตุทุกคน
โดยบอกว่า "ถ้าคุณทำอะไรกับเทสลา หรือบริษัทใดก็ตาม เราจะจับตัวคุณให้ได้ และคุณจะต้องเจอกับนรก"
ขณะที่มัสก์เองได้ประกาศแผนขยายกำลังผลิตในสหรัฐฯ เป็นสองเท่าภายในสองปีข้างหน้า โดยให้เครดิตว่ามาจากนโยบายอันยิ่งใหญ่ของทรัมป์

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด