
จับตากระแสกลุ่มเทคโนโลยีของจีนที่ได้รับความสนใจจากชาวโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะนักลงทุน
นับตั้งแต่วันที่ DeepSeek สตาร์ทอัพ สัญชาติจีน ได้เปิดตัวโมเดล DeepSeek-R1 ที่มาแรงจนขึ้นอันดับที่ 1 บน App Store ของ Apple ในสหรัฐ
สามารถปาดเอาชนะ ChatGPT เจ้าถิ่นได้สำเร็จ และที่น่าตกใจกว่านั้น คือ เอไอค่ายจีนรายนี้ยังมาพร้อมกับต้นทุนที่ต่ำกว่า และใช้เวลาพัฒนาได้ไวกว่า
จนกลายเป็นคำถามและทำให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ต่อกลุ่มเทคสหรัฐ ทั้งงบมหาศาลที่ใช้ไปในกลุ่ม และความมั่นคงในด้านเทคโนโลยี
โดยเฉพาะกลุ่มของนางฟ้าทั้ง 7 Magnificent Seven หรือ กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา
ที่ประกอบไปด้วย Apple / Microsoft / Alphabet / Amazon / Meta / Tesla / Nvidia
เช่น NVIDIA ที่บริษัทต้องช้ำหนัก หลังจากสูญเสียมูลค่าตลาดไปเกือบ 600,000 ล้านดอลลาร์ ภายในวันเดียว (จันทร์ 27 มกราคม 2568 )
หลังการเปิดตัวโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัทดีปซีค (DeepSeek)
ซึ่งถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
ราคาหุ้นร่วงลง 17% ปิดที่ 1148.58 ดอลลาร์/หุ้น ร่วงลงมากสุดตั้งแต่ช่วงการระบาดโควิด-19
และการลดลงของหุ้น ส่งผลให้ตลาด Nasdaq ร่วงลง 3.1%
เหตุผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในด้านนี้
อย่างไรก็ตาม DeepSeek อาจจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
เพราะปัจจุบันนี้มหาอำนาจอย่างจีน ยังคงมีไพ่ลับซ่อนอยู่อีกหลายใบ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพเทคโนโลยีหน้าใหม่มาแรงอีกมากมาย
เช่น กลุ่มยูนิคอร์นแห่งปัญหาประดิษฐ์ หรือกลุ่มเสือหกตัว ที่ถูกเรียกกันว่า “Six Tigers”
ประกอบด้วย Stepfun, Zhipu , Minimax, Moonshot, 01. AI และ Baichuan
ซึ่งแต่ละตัวกำลังมาแรงเป็นอย่างมาก รองรับการใช้งานหลากหลายด้าน
ตั้งแต่แชตบอท ไปถึงการแพทย์และความบันเทิง
DeepSeek จึงถือเป็นระฆัง เริ่มต้นศึกของกลุ่มเทคจีนและสหรัฐอย่างเป็นทางการ
หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ได้เดินหน้านโยบายรีดภาษี และจีนเองถือเป็นหนึ่งเป้าสำคัญที่โดนหนักสุด จากปมขาดดุลการค้า

สรุปข่าว
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำของจีน ได้จัดการประชุม พบปะกับผู้นำบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา
เอกชนมานั่งเรียงราย รายงานตัวกันพร้อมหน้า นับตั้งแต่ Huawei, Alibaba, Tencent, Xiaomi ,BYD ไปถึง DeepSeek
ที่สำคัญ คือ ในงาน มีการกลับมาปรากฏตัวอีกครั้ง ของแจ็ค หม่า มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งอาลีบาบา
ซึ่งครั้งนี้ได้รับเกียรติให้จับมือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อีกด้วย
เป็นภาพสำคัญ ที่ หลายฝ่ายมองว่า นี่้คือสัญลักษณ์ หรือสัญญาณ
นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีครั้งสำคัญ ของทางการจีนต่อภาคธุรกิจ หรือเอกชน
จากนโยบายที่คุมเข้มก่อนหน้านี้ มาสู่นโยบายส่งเสริมและผลักดัน เพื่อประโยชน์ทางการค้าของประเทศ
เหมือนกับทางการจีนกำลังตะโกนบอกให้โลกได้รู้ว่า ตอนนี้จีนได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับภาคเทคโนโลยีแล้วจริงๆ
หลังจากที่เคยมีการปราบปรามอย่างเข้มงวดในช่วงก่อนหน้านี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หุ้นจีนมีแนวโน้มว่าพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
จากการที่ประธานาธิบดีสีให้ความเชื่อมั่นว่าการคุมเข้มด้านเทคโนโลยีจะดีขึ้น
นักลงทุนแสดงความยินดีต่อการประชุม ระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับแจ็ค หม่า ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบาและภาคเอกชน
ซึ่งถือเป็นสัญญาณการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างภาคเอกชนและรัฐคอมมิวนิสต์ และการปราบปรามยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสิ้นสุดลงแล้ว
พร้อมกันนี้ ยังได้พูดถึงหุ้นเทคโนโลยีจีนที่เรียกกันว่า "Terrific Ten" กำลังได้รับความสนใจ
เนื่องจากเป็นทางเลือกทดแทนหุ้น Magnificent Seven ของสหรัฐฯ
ทำความรู้จักกับ Terrific Ten : หุ้น 10 เซียน กลุ่มเทคโนโลยีจีน
ผู้ท้าชิงกับ Magnificent 7 : หุ้น 7 นางฟ้า กลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐ
1. Alibaba
ยักษ์ใหญ่ e-Commerce ของจีน บริการ Cloud Computing ชำระเงินออนไลน์ (Alipay)
2. JD.com
แพลตฟอร์ม E-Commerce แข็งแกร่งด้านเครือข่ายระบบโลจิสติกส์
3. Geely
ผู้ผลิต EV สัญชาติจีน ครอบครองกิจการ Volvo และ Proton-Lotus
4. BYD
ผู้นำเทคโนโลยีด้านการผลิตรถ EV และแบตเตอรี่
5. Xiaomi
ผลิตสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า ระดับโลก
6. Tencent
แพลตฟอร์มด้าน Social & Lifestyle ครบวงจร เจ้าของ WeChat และเกมระดับโลก
7. NetEase
บริษัทผู้พัฒนาเกมออนไลน์ชั้นนำ พร้อมบริการคลาวด์แบบครบวงจร
8. Baidu
Search Engine อันดับหนึ่งในจีน บุกเบิก AI ในจีน ออกแบบชิป พัฒนา Deep Learning ระบบรถยนต์ไร้คนขับ
9. Meituan
แพลตฟอร์ม Food Delivery และ Lifestyle ครบวงจร ทั้งอาหาร การท่องเที่ยว และการเดินทาง
10. SMIC
ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี AI ของจีน

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด