
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือนเมษายนปี 2568 คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) จะอยู่ในโหมดทรงตัวด้วยวอลุ่มต่ำ โดยมีปัจจัยกดดันที่สำคัญจากต่างประเทศ จากการที่นักลงทุนน่าจะทยอยให้น้ำหนักต่อปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และประเด็นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อสูงขึ้น (Stagflation) สะท้อนผ่านสัญญาณตัวเลขต่างๆ ที่ออกมาล่าสุด
ส่วนประเด็นแผ่นดินไหวในไทยนั้น ประเมินว่าจะส่งผลกระทบเพียงด้าน Sentiment ในระยะสั้น ยกเว้นบางกลุ่มที่อาจเผชิญกับความเชื่อมั่นที่ลดลงในระยะกลาง เช่น กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย กลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในฝั่งของตลาดหุ้นเกิดใหม่และตลาดหุ้นไทยนั้น แม้การปรับลดลงของตลาดหุ้นโลกจะนำมาสู่แรงกดดันได้บ้าง แต่ด้วยความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นโลกที่อยู่ต่ำในช่วงหลัง และระดับ Valuation ที่อยู่ต่ำ ประกอบกับแนวมาตรการการคลังและนโยบายการเงินที่เกื้อหนุนกว่า ทำให้ประเมินว่าความเสี่ยงขาลง ( Downside risk) ของตลาดหุ้นในฝั่งนี้จะอยู่ในระดับที่จำกัดกว่า มองกรอบการแกว่งตัวของดัชนีหุ้นไทยในเดือนเม.ย.นี้ที่ 1,150 - 1,190 จุด แต่สิ่งที่ห้ามประมาทก็คือสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่เริ่มอ่อนแอเช่นกัน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน

สรุปข่าว
นายณัฐชาต กล่าวว่า ในเชิงกลยุทธ์ หลังจากที่แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุน 1 ใน 3 ของเงินสดที่ถืออยู่ไปที่บริเวณ SET Index ที่ 1,150 -1,160 จุด แนะถือครองหุ้นในส่วนดังกล่าว ทั้งนี้ ยังคงเชื่อว่าตลอดทั้งไตรมาส 2 ปีนี้ ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงในระดับสูง จะยังเห็นการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยในภาพรวม
ส่วนภายใต้สินทรัพย์เสี่ยงหุ้นด้วยกันนั้น ประเมินว่าจะเห็นการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากจากหุ้นกลุ่มเติบโต( Growth) และเทคโนโลยี เข้าสู่หุ้นกลุ่มคุณค่า ( Value) และหุ้นกลุ่มปลอดภัย (Defensive) ต่อไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคุณลักษณะของตลาดหุ้นไทย รวมถึงหุ้นที่เลือกมาเป็นหุ้นเด่น (Top pick) ประจำไตรมาสที่ 2 ซึ่งได้แก่ BCP, TOP, PTTGC, GPSC, CPF, BDMS, BH, TCAP, 3BBIF, LHHOTEL
สำหรับปัจจัยสำคัญที่น่าติดตามในเดือนเมษายน ได้แก่
1) ความชัดเจนของการเรียกเก็บภาษีตอบโต้( Reciprocal tariff) ของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายนนี้ และการตอบโต้ของประเทศที่ถูกเพิ่มภาษีดังกล่าว
2) จับตาทิศทางตัวเลขเศรษฐกิจโลกว่าจะมีความอ่อนแอต่อเนื่องหรือไม่ และสัญญาณ Stagflation ที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง
3) การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 17 เมษายน ซึ่งล่าสุดตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาส 85% ที่ธนาคารจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% หากเกิดขึ้น จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก Deposit facility จะลงมาอยู่ที่ระดับ 2.25%
4) การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในวันที่ 30 เมษายนถึง 1 พฤษภาคม ล่าสุดนักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม 0.50%
5) การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.00% ไปก่อน หลังจากเพิ่งปรับลดไปในรอบที่ผ่านมา
6) การเข้ามาซื้อขายในตลาดของหุ้น GULFI ในช่วงต้นเดือน
7) ความเป็นไปได้ของการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
ที่มาข้อมูล : บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
ที่มารูปภาพ : บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

พรสวรรค์ นันทะ