ส่องผลกระทบธุรกิจโรงกลั่นไทย จากการกลับมาของอุปทานพลังงานจากรัสเซียหากสงครามยุติ

ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า รายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส  เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2568 ระบุว่า ทรัมป์มีแผนผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หากยอมรับข้อตกลงหยุดยิงกับยูเครน ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อราคาพลังงานโลก ขณะที่การขนส่ง (cargo ) น้ำมันจากรัสเซียที่ตกค้างอยู่จากปัญหาการขนถ่ายน้ำมันที่ท่าเรือของจีนและอินเดีย น่าจะเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง หากมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

 

อีกทั้งมติของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส (OPEC+) ที่จะทยอยเพิ่มการผลิตน้ำมันอาจทำให้มีน้ำมันจากรัสเซียเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในเดือนเม.ย. ปี 2568 ส่วนสถานการณ์ของตลาดโรงกลั่น CGSI คาดว่าความแตกต่างระหว่างน้ำมันดิบกับผลิตภัณฑ์กลั่น ( crack spread) ของน้ำมันดีเซลจะลดลง เมื่อรัสเซียกลับมาส่งออกน้ำมันดีเซล และ HVGO (high vacuum gas oil)

ส่องผลกระทบธุรกิจโรงกลั่นไทย จากการกลับมาของอุปทานพลังงานจากรัสเซียหากสงครามยุติ

สรุปข่าว

ขณะเดียวกัน แนวโน้มที่ก๊าซจากรัสเซียจะขนส่งผ่านท่อส่งก๊าซของยูเครนอาจส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปปรับฐานเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้มีการใช้น้ำมันแทนก๊าซน้อยลง CGSI จึงมองว่าน่าจะมีเพียง crude premium (ราคาส่วนเพิ่มเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง )ที่ลดลงของน้ำมันจากตะวันออกกลางที่จะสามารถลดแรงกดดันต่อค่าการกลั่น (GRM) ของโรงกลั่นไทยได้บางส่วน

 

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า ตามข้อมูลของ Energy Aspect (ผู้ให้บริการด้านข้อมูลพลังงาน) โรงกลั่น Olmeca ในประเทศเม็กซิโก (340 พันบาร์เรลต่อวัน หรือ kbd) อาจต้องเลื่อนกำหนดเปิดออกไปอีกจากไตรมาส 2/258 เป็นไตรมาส 2/2569 จากปัญหาทางเทคนิค  CGSI จึงปรับลดประมาณการกำลังการผลิตส่วนเพิ่มจากโรงกลั่นทั่วโลกเป็น 842kbd ในปี 68 , 712kbd ในปี 2569 และ 417kbd ในปี 2570 (จาก 927kbd, 842kbd และ 162kbd ตามลำดับ) โดยยังคงมองว่ากำลังการกลั่นทั่วโลกจะสมดุลมากขึ้นตั้งแต่ปี 2568 เมื่อการขยายกำลังการผลิตชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การที่ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินทั่วโลกอาจอ่อนตัวกว่าคาด และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวเพราะสงครามการค้า ทำให้ CGSI ตัดสินใจปรับลดสมมติฐานค่าการกลั่นสิงคโปร์ จาก 5.5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็น 5.1 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในปี 2568 แต่ยังคงสมมติฐานปี 2569 - 2570 อยู่ที่ 6.1 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และ 7.1ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ

 

โดย CGSI เชื่อว่า ค่าการกลั่น (GRM) ตลาดของโรงกลั่นไทยยังอยู่ภายใต้แรงกดดันในช่วงครึ่งปีแรก 2568 นี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มการผลิตของโรงกลั่นใหม่ รวมถึงอุปสงค์ที่อ่อนตัวท่ามกลางสงครามการค้าโลก ขณะที่ดีลซื้อกิจการของ SPRC (ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน) และ BCP (โรงกลั่นศรีราชา) ในปี 2565- 2566  ไม่ได้ทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากนัก

 

อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำ “ซื้อ” SPRC ที่ราคาเป้าหมาย 7.50 บาท เพราะบริษัทให้ความสำคัญกับการจัดสรรกระแสเงินสด เพื่อให้สามารถจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ แม้ในช่วงที่กำไรตอหุ้น( EPS) ผันผวน ทั้งนี้ ประมาณการว่า SPRC จะยังมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจที่ร้อยละ 7.7 ในปี 2568

 

ขณะที่ยังมีมุมมองทีเป็นกลาง (Neutral) ต่อกลุ่มโรงกลั่นไทย ซึ่งคำแนะนำจะมีโอกาสปรับขึ้น ( upside risk) หากความต้องการน้ำมันในตลาดโลกแข็งแกร่งกว่าคาด ส่วนโอกาสปรับลดลง( downside risk) จะมาจากการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคาพลังงาน