เมื่อ "กาแฟพันธุ์ไทย" เร่งโตท้าทาย ขอเบียดเจ้าตลาด "อเมซอน" l การตลาดเงินล้าน

ข้อมูลจาก ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนล (Euromonitor International) ประเมินมูลค่าตลาดกาแฟไทย มีมูลค่ารวมอยู่ที่กว่า 34,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขของปี 2566 และมีอัตราการเติบโตในช่วงระหว่างปี 2564 ถึง ปี 2566 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ ร้อยละ 8.55 

จากมูลค่าตลาดรวมในประเทศ ทั้งหมด แบ่งเป็น กาแฟสำเร็จรูป มีมูลค่าตลาดอยู่ที่กว่า 28,900 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84 ส่วนกาแฟสด มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 5,500 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16

การเติบโตดังกล่าว ได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการของกลุ่มผู้บริโภควัยทำงาน และ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ต้องการความสะดวกในการบริโภคกาแฟมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีความต้องการเครื่องดื่มที่หลากหลาย ประกอบกับสภาพอากาศร้อนของไทย ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นความต้องการกาแฟเย็น ทั้งจากร้านสะดวกซื้อ กาแฟสำเร็จรูป และกาแฟบรรจุขวดให้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ความชื่นชอบในบรรยากาศการชง และดื่มกาแฟสด โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ก็ทำให้ตลาดกาแฟสด เติบโตสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน 

สรุปข่าว

ตลาดกาแฟในประเทศ ยังคงเติบโตตามความนิยมการบริโภคของคนในยุคใหม่ โดยเชนร้านกาแฟแบรนด์ไทยต่างก็แข่งขันกันดุเดือด ปัจจุบัน คาเฟ่อเมซอน เชนกาแฟรายใหญ่ มีสาขารวมแล้วมากกว่า 4,000 สาขาทั้งในและต่างประเทศ แต่ กาแฟพันธุ์ไทย ก็เร่งการเติบโต เห็นได้จากปีที่ผ่านมา เปิดสาขาใหม่เฉลี่ย 1.3 สาขาต่อวัน ตลอดทั้งปี พร้อมกับเป้าหมายเบียดคู่แข่งเพื่อขึ้นเป็นที่ 1 ในตลาดภายใน 3 ปี

เชนร้านกาแฟในประเทศ ปัจจุบันมีหลายเจ้า แต่ถ้าเป็นแบรนด์ไทยและรายใหญ่ที่สุด ก็เห็นจะเป็น คาเฟ่อเมซอน ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ และผู้ที่ประกาศตัวท้าชิงความเป็นผู้นำในตลาดร้านกาแฟนี้ ก็คือ กาแฟพันธุ์ไทย ของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของปั๊ม พีที

สำหรับตัวเลขการเติบโตของทั้ง 2 แบรนด์ในปี 2567 ที่ผ่านมา ในแง่จำนวนสาขา ณ สิ้นปี 2567 อเมซอน มีสาขารวมทั้งใน และต่างประเทศ ทั้งสิ้น 4,851 สาขา โดยเป็นสาขาในประเทศจำนวน 4,430 สาขา และสาขาในต่างประเทศมี 421 สาขา และจากจำนวนสาขารวมนั้น คิดเป็นเพิ่มขึ้น 299 สาขา จากปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่ หรือราวร้อยละ 80 ของสาขารวมทั้งหมด เป็นรูปแบบแฟรนไชส์

ส่วนยอดขายที่เป็นจำนวนแก้ว ปี 2567 ที่ผ่านมา อเมซอน ขายได้จำนวน 432 ล้านแก้ว เพิ่มขึ้น 32 ล้านแก้ว หรือร้อยละ 8 จากปี 2566

ด้านรายได้จากการขายและบริการ จากธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่วนใหญ่เป็นรายได้จาก คาเฟ่อเมซอน ในขาของกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ โดย ปี 2567 ที่ผ่านมา โออาร์ รายงานรายได้ในส่วนดังกล่าว อยู่ที่ 16,203 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.4 มีปัจจัยหลักมาจากยอดขายธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่งดื่ม เพิ่มขึ้นตามการขยายสาขา และมาจากปริมาณการจำหน่ายสินค้ากลุ่ม นอน เบฟเวอเรจ (Non Beverage) หรือไม่ใช่เครื่องดื่ม ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ส่วนแผนปี 2568 ในการนำเสนอข้อมูลของ โออาร์ ผ่านทางออนไลน์ ระบุว่าจะยังขยายสาขาต่อเนื่อง อีกราว 285 สาขาใหม่ และจะใช้งบส่วนหนึ่งในการปรับปรุงสาขาเดิม อีกด้วย

ด้าน กาแฟพันธุ์ไทย ปี 2567 ที่ผ่านมา เห็นภาพการเติบโตที่เร่งตัวขึ้น ทั้งจำนวนสาขา และยอดขาย ณ สิ้นปี 2567 พันธุ์ไทย มีสาขาทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,347 สาขา เพิ่มขึ้น 465 สาขา หรือเฉลี่ยเปิดวันละประมาณ 1.3 สาขา ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.7 จากปี 2566 พันธุ์ไทย มีสาขาจำนวน 882 สาขา 

และในจำนวนนี้ เป็นสาขารูปแบบแฟรนไชส์ สัดส่วนร้อยละ 21 อีกทั้ง มีการขยายสาขานอกปั๊มน้ำมันมากขึ้น และเป็นร้านในแบบสแตนอะโลน

ด้านยอดขาย ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 2,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.6 จากปีที่แล้ว

ส่วนเป้าหมายปี 2568 นี้ จะเพิ่มสาขาใหม่อีกจำนวน 600 สาขา ภายใต้งบลงทุนราว 1,000-1,500 ล้านบาท และส่วนใหญ่จะยังเป็นสาขาที่ทาง พีทีจี ลงทุนเอง

ทั้งนี้ หากเทียบจำนวนสาขาแล้ว กาแฟพันธุ์ไทย มีสาขาน้อยกว่า อเมซอน อยู่มาก แต่อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ คุณ พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีจี เอ็นเนอยี ตั้งเป้าที่จะเป็นเบอร์ 1 ของตลาดในแง่จำนวนสาขา 

ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว คุณ พิทักษ์ บอกว่า มีความตั้งใจที่จะเปิดสาขาให้ได้ถึง 5,000 สาขาภายใน 3 ปี แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะการจะเปิดสาขาจำนวนมาก ยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอีกมาก รวมถึงเรื่องการพัฒนาพนักงานและการใช้คนอีกจำนวนมาก แต่หากเปิดได้ตามเป้าหมายนี้ ก็จะเป็นการแซงหน้าคู่แข่งที่อยู่ในตลาดเดียวกันได้

และล่าสุดยังคงยืนยันเป้าหมายเดิม ที่จะมีสาขาให้ถึงจำนวน 5,000 สาขาภายในปี 2571 และบอกด้วยว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา กาแฟพันธุ์ไทย มีการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม มากกว่าร้อยละ 36 และคาดว่าปี 2568 นี้ จะรักษาการเติบโตได้ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา และภายในสิ้นปีนี้ จะมีสาขาทั้งหมดกว่า 2,000 สาขา จากเป้าหมายการเปิดเพิ่มอีกจำนวน 600 สาขา 

อีกทั้ง เตรียมจะนำ กาแฟพันธุ์ไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ในปี 2570 อีกด้วย

นอกจากนี้ หากพูดถึงตลาดร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมัน นอกจาก คาเฟ่อเมซอน และกาแฟพันธุ์ไทย แล้ว ยังมีร้านกาแฟอินทนิล ของ บางจาก ที่บริหารโดย บริษัท บางจาก รีเทล ณ สิ้นปี 2567 อินทนิล มีสาขารวมทั้งสิ้น 1,028 สาขา เพิ่มขึ้นจำนวน 8 สาขาจากปีก่อนหน้า

ส่วน คาลเท็กซ์ เมื่อปีที่แล้วประกาศความร่วมมือกับ กาแฟชาวดอย ในการขยายสาขาในปั๊มน้ำมัน คาลเท็กซ์ ซึ่งเบื้องต้น มีเป้าหมายจะขยายสาขาให้ครบ 200 สาขาทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี คือระหว่างปี 2567 ถึง 2572 จากที่มีอยู่แล้ว 38 สาขา  โดยจะเน้นไปในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งใช้งบลงทุนต่อสาขาอยู่ที่ประมาณ 1,700,000 บาท

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ : -