
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยทั้งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเป็นเจ้าของที่ดิน ได้ยื่นขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 20 แห่ง ใน 3 จังหวัดอีอีซี ทั้งจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง โดยมีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 50 ไร่ ถึง 1,000 ไร่ สำหรับจัดสรรพื้นที่รองรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างชาติ ในกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่มที่อีอีซีกำหนด ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ,ดิจิทัล,ยานยนต์สมัยใหม่,เศรษฐกิจบีซีจีและบริการหรือจะมากกว่านี้ก็ได้
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด เพื่อเตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เห็นชอบต่อไป คาดว่าจะมีประมาณ 10 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่จะสามารถเริ่มดำเนินการภายในปี 2568 นี้ ส่วนที่เหลือทยอยดำเนินการในปีถัดไป

สรุปข่าว
นายจุฬากล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566-วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ทางอีอีซีได้มีการชักชวนนักลงทุนเข้ามาใน 5 กลุ่มคลัสเตอร์เป้าหมาย ทั้งหมด 206 ราย มีมูลค่าการลงทุนรวม 256,201 ล้านบาท โดยในนี้มีนักลงทุนสนใจยื่นข้อเสนอโครงการ 14 ราย 13 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 136,000 ล้านบาท แบ่งเป็นคลัสเตอร์ดิจิทัล 4 โครงการ ยานยนต์สมัยใหม่ 1 โครงการ เศรษฐกิจบีซีจี 3 โครงการ และบริการ 5 โครงการ
อย่างไรก็ดีมี 1 ราย จากประเทศไต้หวัน เป็นนักลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ ที่ขอส่งเสริมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) แทนอีอีซี เนื่องจากรอไม่ไหว เพราะต้องรอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบประกาศกพอ. เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ….ก่อน ถึงจะสามารถอนุมัติให้ดำเนินการได้ ทำให้การลงทุนหายไปร่วม 50,000 ล้านบาทและเหลือ 12 โครงการ แต่ 1 รายที่ไปใช้การส่งเสริมบีโอไอนั้นถือว่ายังเป็นการลงทุนในประเทศไทย แม้จะไม่ใช้จากอีอีซีก็ตาม
ทั้งนี้ อีอีซีตั้งเป้าหมาย 5 ปี จะมีเม็ดเงินลงทุน 500,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 150,000 ล้านบาท จาก 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยปี 2567 ที่ผ่านมามูลค่าการลงทุนทะลุเป้า ส่วนปี 2568 ตั้งเป้าไว้ที่ 150,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะได้สูงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากมีนักลงทุนเข้ามาคึกคัก โดยนักลงทุนเป้าหมายจยังเป็นจีนและญี่ปุ่น รวมถึงสิงคโปร์
ส่วนด้านความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 4 โครงการ ในส่วนของท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 จะแล้วเสร็จในปี 2570-2571 และกลางปีนี้คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะใช้เวลาสร้าง 5 ปี เสร็จปี 2573 และเริ่มสร้างรันเวย์และอาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภา ใช้เวลาสร้าง 4 ปี เสร็จปี 2572"
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ภายในเดือนมีนาคมนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมจะลงพื้นที่อีอีซี เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างและพัฒนาในพื้นที่