สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจส่งผลให้มาเลเซียและสหภาพยุโรป (EU) เริ่มการเจรจาการค้าใหม่อีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทาน
นายราฟาเอล แดร์ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำมาเลเซีย กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิเอเชียว่า ทั้งสองฝ่ายมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการเจรจาจัดตั้งความร่วมมือการค้าเสรี (FTA) ครั้งใหม่นี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายคงไม่เริ่มกระบวนการนี้ใหม่ หากไม่มั่นใจว่าจะบรรลุผลสำเร็จหรือไม่
การเจรจาระหว่างมาเลเซียและสหภาพยุโรปเริ่มต้นขึ้นในปี 2553 แต่หยุดชะงักลงหลังจากการเจรจา 7 รอบ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าและปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะในภาคส่วนน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้กฎระเบียบด้านความยั่งยืนของสหภาพยุโรปเข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งมาเลเซียมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
สรุปข่าว
สำหรับมาเลเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวอาจเพิ่มบทบาทของมาเลเซียในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสำหรับยุโรปแล้วนั้น มาเลเซียถือเป็นศูนย์กลางสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านซูเปอร์คอมพิวเตอร์ พลังงานสีเขียว และเมืองอัจฉริยะ
มูลค่าการค้าระหว่างมาเลเซียและสหภาพยุโรปอยู่ที่ประมาณ 4.5 หมื่นล้านยูโร (4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี โดยสหภาพยุโรปครองสัดส่วน 7.6% ของการค้าทั้งหมดของมาเลเซีย โดยเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ รองจากสิงคโปร์ สหรัฐ และจีน โดยเนเธอร์แลนด์และเยอรมนีเป็นคู่ค้าสหภาพยุโรปรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย นอกจากนี้แล้ว มาเลเซียยังคงมีดุลการค้าเกินดุลกับสหภาพยุโรป และเจ้าหน้าที่เชื่อว่าข้อตกลงใหม่นี้อาจผลักดันการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน การผลิตขั้นสูง และการค้าดิจิทัล
ที่มาข้อมูล : สำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย
ที่มารูปภาพ : TNN