จีนไม่ใช่ขุมทรัพย์ สร้างรายได้? ค่านิยมจีนต่อแบรนด์หรูเปลี่ยนไป l การตลาดเงินล้าน

นิตยสาร ฟอร์จูน รายงานว่า นักช็อปที่ร่ำรวยในจีนมีทัศนคติใหม่ต่อการใช้เงิน และนั่นคือข่าวร้ายสำหรับแบรนด์หรู ที่ลงทุนไปกับตลาดดังกล่าวจำนวนมาก เพื่อสร้างความภักดีจากพวกเขา

รายงานดังกล่าว ระบุว่า ระหว่างปี 2017 ถึงปี 2021 นั้น ตลาดสินค้าหรูในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า แสดงถึงความนิยมต่อสินค้าแบรนด์หรูของผู้บริโภคชาวจีน และทำให้จีนกลายเป็นจุดสนใจใหม่ของกลุ่มธุรกิจแฟชัน ที่คาดหวังในการสร้างการเติบโตในตลาดดังกล่าว

แต่แล้ว การระบาดของ โควิด 19 ประเทศจีนเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์ ทำให้นักช็อปที่ส่วนใหญ่จะไปซื้อสินค้าหรูในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น ปารีส ลอนดอน และนิวยอร์ก ไม่สามารถไปช็อปปิง ด้วยตัวเอง เพราะออกเดินทางไม่ได้  จึงทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีก อย่าง แอลวีเอ็มเอช (LVMH) และ เคอริง (Kering) ตัดสินใจลงทุนขยายธุรกิจเข้าไปในจีนกันมากขึ้น

นั่นถือว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะ แม้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการแฟชัน จะเชื่อว่ากระแสบูมของสินค้าฟุ่มเฟือยของจีน จะยิ่งทำให้ยอดขายของบริษัทฯ พุ่งสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบที่เกิดจากโควิด 19 ต่อผู้บริโภคชาวจีนยังคงคุกรุ่นอยู่มาก ทำให้นักช็อปที่ประสบกับปัญหาทางการเงิน มีการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของตนเอง และสนใจในสิ่งอื่นมากกว่า เช่น การลงทุนระยะยาว ทำให้ กระเป๋าหลุยส์ วิตตอง รุ่นใหม่ หรือ ชุดเดรสสุดหรู ของ เวอร์ซาเช่ ไม่เป็นที่น่าดึงดูดใจอีกต่อไป

ผลประกอบการของแบรนด์แฟชันชั้นนำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่ลดลง ก็สะท้อนถึงรสนิยมของคนจีนที่เปลี่ยนไป กระทบต่ออุตสาหกรรม และสะท้อนต่อไปยังราคาหุ้นของบรรดาแบรนด์หรูให้ดำดิ่งลงในปี 2024 ที่ผ่านมา

โดย เคอริง (Kering) ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 39.4  เบอร์เบอร์รี (Burberry) ลดลงร้อยละ 30  แอลวีเอ็มเอช (LVMH) ลดลง ร้อยละ 13 และ มงแคลร์ (Moncler) ราคาหุ้นในปีที่ผ่านมา ลดลงไป ร้อยละ 7.8

สรุปข่าว

ทั้งนี้ การที่ผู้บริโภคชาวจีน หันหลังให้กับแฟชันระดับไฮเอ็น มีเหตุผล หลายประการ สาเหตุหลัก ๆ มาจากการที่ เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากการระบาดครั้งใหญ่ ทั้งเกิดภาวะซบเซาของตลาดที่อยู่อาศัย และการจ้างงานลดลง ทำให้การใช้จ่ายซื้อสินค้าหรูหราลดน้อยลง

เศรษฐีชาวจีน แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว แต่พวกเขาก็เปลี่ยนวิธีคิดในการใช้จ่ายเงิน มีลำดับความสำคัญใหม่ โดยมองว่า การเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถานะในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดที่อยู่อาศัยกำลังประสบปัญหา จึงเห็นโอกาสในการลงทุน ทั้งยังสามารถซื้อบ้านหรูที่สร้างเสร็จแล้ว ได้อีกด้วย 

ส่วนคนหนุ่มสาววัยทำงาน เดิมเป็นผู้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยกลุ่มใหญ่ ด้วยสัดส่วนที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ช่วงที่ผ่านมา ตกงานและหางานทำไม่ได้ ทำให้ต้องประหยัดมากขึ้น  และเช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ที่ความพึงพอใจต่อสินค้าแบรนด์เนม เริ่มลดน้อยลง ขณะเดียวกัน ต้องการสัมผัสกับประสบการณ์มากกว่าการเป็นเจ้าของ โดยตระหนักว่า การมีของดี ไม่ได้ทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น และสิ่งที่พวกเขาต้องการแต่ไม่สามารถซื้อได้ นั่นคือประสบการณ์ชีวิต 

สาเหตุอีกประการหนึ่ง ก็คือ การปรับขึ้นราคาของแบรนด์หรู โดยนับตั้งแต่ปี 2019 ราคาสินค้าหรูปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นสินค้าแบบเดิม ๆ ไม่มีอะไรใหม่ให้น่าดึงดูดใจ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม บริการ และคุณภาพ ทำให้นักช็อปชาวจีนที่กำลังเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ ตลาดอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอ และการที่ยังต้องติดอยู่แต่ในบ้านทำให้ไม่มีโอกาสออกไปโชว์สินค้าที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ จึงลดความสนใจกับการซื้อสินค้าหรูลง

ขณะเดียวกัน ของเลียนแบบ หรือสินค้าปลอม ก็เริ่มแพร่ระบาดทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งนักช็อปที่เน้นการประหยัด ก็หันมาซื้อสินค้าเหล่านี้ที่มีราคาถูกกว่ามากแทน 

สำหรับ ผลประกอบการของกลุ่ม แอลวีเอ็มเอช(LVMH) ปี 2024 ที่รายงานออกมา  พบว่า มีรายได้สุทธิทั้งปี อยู่ที่ 84,700 ล้านยูโร ลดลงไปร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว  ส่วนกำไรสุทธิ ปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 17 อยู่ที่ 12,550 ล้านยูโร ซึ่งปัจจัยหลักคือแรงกดดันจากตลาดจีนที่มียอดขายลดลง

โดยแอลวีเอ็มเอช ยักษ์ใหญ่แบรนด์หรูจากฝรั่งเศส เป็นเจ้าของหลายแบรนด์ดัง ไม่ว่าจะเป็น Louis Vuitton, Dior ,GIVENCHY ,BULGARI ,LOEWE, Sephora และอื่น ๆ อีกหลายแบรนด์

สำหรับบริษัท เคอริง (Kering) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์หรู อย่าง Gucci, Saint Laurent, Bottega Veneta  และ Balenciaga  ปี 2024 เคอริง มีรายได้ 17,200 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 12 จากปีที่แล้ว และกำไร 1,100 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 62 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานฉบับล่าสุดจาก บิซิเนส ออฟ แฟชัน (Business of Fashion) และแมคคินซี (McKinsey) ที่คาดการณ์ถึงอุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือย จะเติบโตเพียงเล็กน้อย

โดยคาดการณ์ว่า จะเติบโตเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้นในระหว่างปี 2024 ถึงปี 2027  โดยตลาดจีนและยุโรป ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย จะชะลอตัวลง  ส่วนตลาดที่จะเติบโตดี คือตะวันออกกลาง และอินเดีย

ทั้งระบุว่า ความต้องการในสินค้าหรูหราจะเปลี่ยนไป โดยเปลี่ยนจาก นาฬิกาหรู และเครื่องแต่งกาย ไปเป็นประสบการณ์ด้านสุขภาพและการเดินทาง มากขึ้นแทน

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความต้องการในสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง มาจากการที่ อุตสาหกรรมนี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยราคาเป็นหลัก แต่นวัตกรรมไม่สามารถตามได้ทัน และเมื่อเวลาผ่านไป จึงทำให้ความน่าดึงดูดใจโดยรวมของสินค้าลดลง ซึ่งจากรายงานดังกล่าว พบว่า ร้อยละ 80 ของกลุ่มผู้ใช้จ่ายสูงสุดในอุตสาหกรรมนี้ ไม่อยากซื้อสินค้าหรูเนื่องจากการขึ้นราคา 

และนั่นส่งผลให้ แบรนด์บูติกใหม่ ๆ หรือแบรนด์ใหม่ภายใต้บริษัทยักษ์ใหญ่ มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักช็อปมองหาทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ปราดา ที่เป็นเจ้าของ Miu Miu จากตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2024  ปราดา มีรายได้เติบโตร้อยละ 18 แต่ มิว มิว มีรายได้สูงขึ้นกว่าเท่าตัว หรือ 105%

ราหุล มาลิก (Rahul Malik) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเติบโตและหัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกของ บิซิเนส ออฟ แฟชัน กล่าวว่า ปี 2025 จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย จึงถึงเวลาแล้ว ที่แบรนด์ต่างๆ จะต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อฟื้นคืนความต้องการ ความคิดสร้างสรรค์ และความพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสินค้าหรูหรา

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร ฟอร์จูน

ที่มารูปภาพ : -