CNBC รายงานว่า ตลาดหุ้นอินเดียแผ่วลงนับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติพากันถอนตัวท่ามกลางความกังวลเรื่องการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากก่อนหน้านี้ GDP อินเดียเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง
โดยดัชนี “นิฟตี้ 50” (Nifty 50) และ “เซนเซกซ์” (Sensex) เคลื่อนไหวที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 เดือน ซึ่งเป็นการปรับฐานนับตั้งแต่แตะจุดสูงสุดในเดือนกันยายนปีที่แล้ว
ข้อมูลของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งชาติของอินเดีย ระบุว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ชาวต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้นอินเดีย เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยในปี 2567 เงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นอินเดียลดลงร้อยละ 99 เมื่อเทียบปีก่อนหน้า อยู่ที่ 124 ล้านดอลลาร์
“โกลด์แมน แซคส์” ระบุว่า อุตสาหกรรมที่หุ้นปรับตัวลดลงมากที่สุด อาทิ อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และรถยนต์
“เวนุโกปาล การ์เร” หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดอินเดียจาก AB เบิร์นสไตน์ มองว่า ฟองสบู่ก่อตัวขึ้นมาเป็นเวลานานหลายปี แต่เพิ่งยอมรับกันเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งแนวโน้มที่ย่ำแย่เป็นผลมาจากรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในไตรมาส 2
GDP อินเดียขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสที่สิ้นสุดเดือนกันยายน นับเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส ล่าสุด รัฐบาลอินเดียได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของ GDP ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมีนาคมลงเหลือร้อยละ 6.4 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี
แม้ว่าแนวโน้มในระยะสั้นของตลาดหุ้นอินเดียอาจยังไม่ดีนัก แต่นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ปัจจัยพื้นฐานในระยะยาวของอินเดียยังคงแข็งแกร่ง และกำลังเริ่มฟื้นตัว
สรุปข่าว