นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากกรณี ออปโป้และ เรียลมี มีการโหลดแอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อนให้ลูกค้าตั้งแต่โรงงาน กระทรวงดีอี ทั้ง สคส.และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ขยายผลเกี่ยวกับแอปเงินกู้พบว่า ในกูเกิล เพลย์สโตร์ มี 11 แอปพลิเคชันที่ต้องสงสัยว่าผิดกฎหมาย จึงได้ส่งข้อมูลไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบจากแบงก์ชาติ แต่อย่างใด โดยหากทาง ธปท. ยืนยันอย่างเป็นทางการ กลับมาว่า 11 แอปเงินกู้ ดังกล่าว ผิดกฎหมาย ทางกระทรวงดีอีจะประสานไปยังกูเกิลเพื่อให้ปิดกั้นแอปพลิเคชันดังกล่าวออกจาก เพลย์ สโตร์
ทั้งนี้ ทาง กระทรวงดีอี และหน่วยงานในสังกัด ได้ทำงานเชิงรุก หลังจากกรณี ออปโป้ และเรียลมี เพื่อ ป้องกันไม่มีแอปเงินกู้เถื่อนที่ผิด ก.ม. ในไทย ที่เปิดให้ประชาชนดาวน์โหลดได้ หรือ อาจจะมีการนำมาติดตั้งลงในสมาร์ทโฟนล่วงหน้าจากโรงงานอีก เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อแอปเงินกู้ผิดกฎหมายอีก
นายเวทางค์ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าผู้เสียหายกรณีถูกติดตั้งแอปเงินกู้สินเชื่อความสุขนั้น ล่าสุดมีผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามายัง สคส. เพิ่มจาก 11 ราย เป็น 40 ราย โดยจะต้องนำข้อมูลนำเสนอให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ สคส. ตรวจสอบและกำหนดโทษปรับทางปกครองต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ หน้าเว็บไซต์ของ ธปท. พบว่า แอปพลิเคชัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. อย่างถูกต้อง มีแค่ 10 รายเท่านั้น ประกอบด้วย บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แรบบิท แคช จำกัด
สรุปข่าว