BAY ทำกำไรปี 67 ที่ 29,700 ล้านบาท หดตัว 9.8% หลัง NPL พุ่ง ตั้งสำรองเพิ่ม สินเชื่อ SME ยังไม่ฟื้น

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลประกอบการประจำปี 2567 มีกําไรสุทธิอยู่ที่ 29,700 ล้านบาท ลดลง 9.8% หรือลดลง 3,229 ล้านบาท จากปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สะท้อนนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวัง

BAY ทำกำไรปี 67 ที่ 29,700 ล้านบาท หดตัว 9.8% หลัง NPL พุ่ง ตั้งสำรองเพิ่ม สินเชื่อ SME ยังไม่ฟื้น

สรุปข่าว

BAY ทำกำไรลดลงในปี 67 จากตัวเลข NPL ที่เพิ่มสูงขึ้น และการตั้งสำรองเพิ่มเติม จากสินเชื่อ SME ที่ยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนสภาพแวดล้อมในการดําเนินธุรกิจที่ท้าทาย ขณะที่รายได้รวม และ NIM ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากการควบรวมธุรกิจในอาเซียน

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 107,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,504 ล้านบาท หรือ 8.6% จากปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย 17,287 ล้านบาท ส่วนใหญ่ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อจากการควบรวมธุรกิจในอาเซียน และการเพิ่มขึ้นของ อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ

รายได้ค่าธรรมเนียม และบริการอยู่ที่จํานวน 34,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.6% หรือจํานวน 5,433 ล้านบาทจากปี 2566 จากธุรกิจภายในประเทศ และธุรกิจในอาเซียน โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมบริหารความมั่งคั่งกองทุน ค่าธรรมเนียมจากการเป็นตัวแทนจําหน่ายประกัน และค่าธรรมเนียมบริการบัตร

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM ในปี 2567 อยู่ที่ 4.28% เพิ่มขึ้นจาก 3.91% ในปี 2566 โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นมีปัจจัยหลักมาจากการรับรู้รายได้ทั้งปีของธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศที่ควบรวมในปี 2566 และการบริหารสภาพคล่องที่เหมาะสมรัดกุม สอดคล้องกับอุปสงค์ต่อเงินให้สินเชื่อที่ชะลอตัวระหว่างปี

ในขณะเดียวกัน สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจํานวน 12,185 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.8% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อเพื่อรายย่อย และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม สะท้อนสภาพแวดล้อมในการดําเนินธุรกิจที่ท้าทาย

ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม หรือ NPL อยู่ที่ 3.23% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 เทียบกับ 3.20% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 และ 2.53% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ขณะที่อัตราส่วนเงินสํารองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 123.2% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 เทียบกับ 124.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 และ 149.1% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ตามลําดับ