แบตเตอรี่จีน "CATL"เปิดตัวแชสซีรถ EV

สรุปข่าว

แชสซีรุ่นนี้มาพร้อมแบตเตอรี่ที่วิ่งได้ไกลถึง 1,000 กม.ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และย่นระยะเวลาในการผลิตรถยนต์ปริมาณมาก จากเดิมที่ใช้เวลา 36 เดือนขึ้นไป เหลือเพียง 12-18 เดือนเท่านั้น


บริษัทตั้งเป้าจำหน่ายแพลตฟอร์มรถ EV รุ่นใหม่นี้ ซึ่งมีชื่อว่า "ผานฉือ" (แปลว่า "ศิลา") ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ระดับพรีเมียมที่ต้องการเร่งพัฒนาและลดต้นทุนการผลิต


ทั้งนี้ แบรนด์แรกที่จะนำแชสซีผานฉือของ CATL มาพัฒนาเป็นรถ EV หลากหลายรุ่นก็คือ อวาทาร์ (Avatr) แบรนด์รถ EV จากจีนที่เป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง CATL, รัฐวิสาหกิจรถยนต์จีน ฉางอาน ออโต้ (Changan Auto) และหัวเว่ย (Huawei) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี ตามที่เฉิน จ้าว ประธานบริษัทอวาทาร์ เปิดเผยในงานแถลงข่าว อย่างไรก็ตาม เขายังไม่ได้ระบุกำหนดการเปิดตัวรถ EV ดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม ในวงการอุตสาหกรรม แพลตฟอร์มรถ EV เช่นนี้มักเรียกว่า "แชสซีสเกตบอร์ด" หรือแพลตฟอร์มอเนกประสงค์ที่รวมมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ระบบควบคุม และระบบกันสะเทือนไว้ด้วยกัน


แชสซีนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญตามปณิธานของโรบิน เจิง ประธาน CATL ที่จะผลักดันยักษ์ใหญ่ด้านแบตเตอรี่ของจีนแห่งนี้ให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CATL ยังมุ่งพัฒนาระบบไมโครกริด และกำลังพัฒนาบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อีกด้วย


เจิงได้เปิดเผยเกี่ยวกับโปรเจกต์ผานฉือกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเดือนพ.ย.ว่า สามารถลดต้นทุนการพัฒนารถ EV รุ่นใหม่จากหลัก 1,000 ล้านดอลลาร์ เหลือเพียงหลัก 10 ล้านดอลลาร์ และช่วยให้ผู้ผลิตรถ EV เฉพาะกลุ่มสร้างผลกำไรได้แม้ขายเพียงปีละ 10,000 คัน


นวัตกรรมนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่ในประเทศที่ยังไม่มีฐานการผลิตรถยนต์สามารถก้าวเข้าสู่วงการรถ EV โดยเจิงเปิดเผยว่า CATL ได้นำเสนอเทคโนโลยีผานฉือแก่ปอร์เช่ (Porsche) เพื่อพัฒนารถ EV ระดับหรู และแก่นักลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่สนใจสร้างแบรนด์รถ EV ในประเทศ


ทั้งนี้ บริษัทได้พัฒนาแพลตฟอร์มรถ EV ที่บูรณาการแบตเตอรี่เข้ากับแชสซีโดยตรงมาตั้งแต่ปี 2563 และได้ร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์หลายราย อาทิ วินฟาสต์ (Vinfast), บีเอไอซี (BAIC) และเนต้า (Neta) ในการพัฒนารถยนต์โดยอาศัยแพลตฟอร์มดังกล่าวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา


ที่มา TNN

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

เศรษฐกิจ insight
แชสซี
ev
ปอร์เช่
ผานฉือ