ตลาดรถยนต์ไทย ยอดขายมีโอกาสต่ำสุดในรอบ 15 ปี l การตลาดเงินล้าน

สรุปข่าว

ศูนย์วิจัยวิเคราะห์เชิงลึกด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารกรุงไทย หรือ Krungthai COMPASS โดยวีระยา ทองเสือ และ กณิศ อ่ำสกุล ระบุ ตลาดรถยนต์ไทยอยู่ในภาวะหดตัวอย่างน่าใจหาย เห็นได้ชัดจากยอดขายรถยนต์ในกันยายน 2567 ที่ติดลบหนักถึง ร้อยละ 37.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน ส่งผลให้ยอดขาย สะสมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนเพียง 4.4 แสนคัน ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 1 ใน 4 หรือติดลบร้อยละ 25 เมื่อพิจารณายอดขายรถยนต์ราย Segment พบว่าส่วนใหญ่เป็นการ หดตัวจากกลุ่ม Commercial Car เป็นหลัก ที่หายไปกว่า 1.10 แสนคัน หรือติดลบร้อยละ 38 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของภาคก่อสร้าง จึงทำให้ความต้องการใช้รถกระบะและรถบรรทุกได้รับผลกระทบตามกันไปด้วย

Krungthai COMPASS มีมุมมองต่อยอดขายรถยนต์ไทยในปี 2567- 2568 อาจอยู่ในระดับต่ำเพียงปีละ 6.0-6.1 แสนคัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2564- 2566 ที่ 7.9 แสนคัน อยู่เกือบร้อยละ 25 สาเหตุหลักที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ติดลบหนัก 

ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 1. กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และบางส่วนกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย 

2. ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาหนี้เสีย และคุณภาพของผู้กู้ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดจำหน่ายรถยนต์เช่นเดียวกัน ยอดขายรถยนต์ที่หดตัวรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่อยู่ใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในแง่ การทำกำไรของดีลเลอร์รถยนต์อาจมีปัญหาได้ หากรายได้จากการขายรถยนต์ปรับตัวลงรุนแรง และระดับการเติบโตของยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ อาจส่งผ่านมายังรายได้ของผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อด้วยเช่นกัน สะท้อนจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อของกลุ่มผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 18.5 

นอกจากนี้ ยังมีผลต่อการฟื้นตัวของ ยอดผลิตรถยนต์ เบื้องต้นคาดว่ายอดผลิตรถยนต์ของไทยมีโอกาสอยู่ในระดับ 1.62-1.66 ล้านคัน ในปี 2567-68 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ที่ 1.8 ล้านคัน ถึงร้อยละ 8-10 

ปัจจัยที่ต้องจับตาในระยะถัดไป ได้แก่ ตลาดในประเทศที่ยังซบเซา ท่ามกลางการแข่งขันที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการเข้ามาของค่ายรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้นำเสนอรถ BEV ที่มีคุณภาพสูงในราคาที่แข่งขันได้ รวมทั้ง ภาวะสงครามการค้าที่สหรัฐ และ EU จะขึ้นภาษีรถยนต์ BEV จากจีน อาจทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกอื่นแทน ก็เป็นประเด็นที่อาจทำให้การแข่งขันตลาดรถยนต์ในไทยยิ่งทวีความรุนแรง โดยเริ่มเห็นสัญญาณที่ค่ายรถยนต์ในไทยเริ่มปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องสถานการณ์มากขึ้น อาทิ ค่าย Honda เตรียมหยุดสายการผลิตรถยนต์ที่โรงงานอยุธยาภายในปี 2568 โดยมีแผนจะรวมกำลังการผลิตไว้ที่โรงงานที่ปราจีนบุรี และยังมีผู้ผลิตรถยนต์อีก 2 ราย ที่มีแผนจะยุติการผลิตรถยนต์จากโรงงานในไทย คือ ค่าย Subaru และ Suzuki

ส่วนอีกประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคไทยที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ทั้งความนิยมรถยนต์ไฮบริดที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ที่มุ่งเน้นด้านคุณสมบัติ สมรรถนะ และราคา มากกว่าคุณภาพ ภาพลักษณ์ หรือแบรนด์

ทั้งนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงควรพิจารณาแนวทางในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมือและไขว่คว้าโอกาสจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :