สรุปข่าว
ซีเอ็นบีซี รายงานคาดการณ์อัตราเงินเดือนของตำแหน่งงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งคาดว่าปี 2568 จะปรับสูงขึ้นอีกจากปี 2567 และยังชี้ให้เห็นว่า ความต้องการในตำแหน่งงานทักษะสูงมีปริมาณเพิ่มขึ้น
ราหุล เชาวลา (Rahul Chawla) หุ้นส่วนของบริษัท เอออน (Aon) และหัวหน้าฝ่ายโซลูชันบุคลากรสำหรับอาเซียน กล่าวว่า ทิศทางของอัตราเงินเดือนจะสูงขึ้นในปีหน้า แต่จะสวนทางกับภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอยู่ในทิศทางขาลง สะท้อนว่า อุปสงค์และอุปทานของบุคลากรมีความแตกต่างกันเกินกว่าอัตราเงินเฟ้อ
ซึ่งแม้ว่า เงินเฟ้อจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปรับขึ้นเงินเดือน แต่ปัจจัยอื่น ๆ ก็ส่งผลต่อการปรับขึ้นเงินเดือนด้วย เช่น ความต้องการบุคลากรที่มีทักษะสูงกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจาก อาเซียน ได้กลายเป็นศูนย์กลาง แซน บ็อกซ์ ของบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก เช่นที่ สิงคโปร์ ที่สามารดึงดูดเงินทุนเข้ามาได้จำนวนมาก และผลักดันความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง เพื่อมารองรับกับการเติบโตนี้
ด้าน เฉิง วัน หัว (Cheng Wan Hua) ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์บุคลากรสำหรับภูมิภาคอาเซียน ของ เอออน กล่าวเสริมว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ซึ่งหมายรวมถึง เจเนอเรทีฟ เอไอ ก็มีส่วนทำให้มีความต้องการในตำแหน่งงานทักษะสูงเพิ่มขึ้นด้วย
เช่น วิศวกรพร้อมต์ หรือ พร้อมต์ เอ็นจีเนียร์ ผู้ที่มีทักษะในการทำหน้าที่พัฒนาประสิทธิภาพของ AI ซึ่งหากเป็นเมื่อ 2 ปีก่อน ทักษะในด้านนี้อาจจะยังไม่ได้มีความสำคัญมากนัก แต่ตอนนี้ หลังจากการเกิดขึ้นของ แชตจีพีที (ChatGPT) ทำให้เป็นทักษะใหม่ที่มีความต้องการอย่างมากในปัจจุบัน
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าว มาจากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน 2567 จากบริษัทมากกว่า 950 แห่ง ใน อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และ เวียดนาม ทั้งระบุด้วยว่า ภาคธุรกิจของภูมิภาคนี้ มีแนวโน้มที่จะรักษา หรือเพิ่มจำนวนพนักงานโดยเอารวมไว้ แต่ในทางกลับกัน การดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถสูงนั้น กลับมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าว ยังเปิดเผยงบประมาณด้านบุคลากรของภาคธุรกิจ จาก 6 ประเทศในอาเซียน ปี 2568 พบว่า เวียดนาม มีงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด และสิงคโปร์ อยู่รั้งท้าย
จากข้อมูลจะพบว่าเวียดนาม นำหน้าในด้านนี้มาตลอด 3 ปี โดยปีนี้ ปี 2024 เพิ่มขึ้นไปแล้ว ร้อยละ 6.4 และปี 2025 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 6.7
ถัดมาคือ อินโดนีเซีย ปี 2024 เพิ่มขึ้นมาแล้วร้อยละ 5.7 และปีหน้า ปี 2025 จะเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 6.3
ฟิลิปปินส์ ปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ส่วนปี 2025 จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5.8
มาเลเซีย ปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และปี 2025 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5
ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของอาเซียน ซึ่งปี 2024 เพิ่มขึ้นไปแล้วที่ ร้อยละ 4.4 และปี 2025 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 4.7
และอันดับสุดท้าย สิงคโปร์ ปี 2024 เพิ่มขึ้นไปแล้วร้อยละ 4.2 และปีหน้า 2025 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 4.4
รายงานระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนในแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกัน โดย งบสำหรับตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยี และการผลิต เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 5.8 และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก ที่ปรึกษา ธุรกิจและบริการชุมชน ชีววิทยาศาสตร์ (life sciences) และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4
ส่วนอุตสาหกรรมพลังงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 บริการทางการเงิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1
เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า คาดการณ์ การปรับขึ้นเงินเดือนในสิงคโปร์ และไทย อยู่ในระดับต่ำกว่าภูมิภาคโดยรวม ซึ่งในประเด็นนี้ เชาวลา กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว การปรับขึ้นเงินเดือนในสิงคโปร์จะตามหลังตลาดอื่น ๆ ในอาเซียน เพราะสิงคโปร์เป็นตลาดที่พัฒนาแล้ว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เติบโตเร็วกว่า รวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ก็มีแนวโน้มต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ส่งผลให้การปรับขึ้นเงินเดือนมีอัตราที่น้อยกว่า
ในทางกลับกัน ไทย มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ขณะเดียวกัน บุคลากรที่มีทักษะของไทย มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าในด้านของภาษาและการปรับใช้ ส่วนใหญ่จึงมักจะอยู่ในตลาดของตนเอง
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากเพจ เอช อาร์ ไทยแลนด์ เผยผลสำรวจแนวโน้มอัตราเงินเดือนปี 2025 ในตำแหน่งงานสาย ไอที ซึ่งจัดทำโดย ManpowerGroup Thailand พร้อมระบุว่า ไอที เป็นอีกหนึ่งสายงานที่มีการแข่งขันกันสูงในการจ้างงาน และหาผู้สมัครค่อนข้างยาก
และจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า อัตราเงินเดือนสำหรับตำแหน่งงานระดับกลาง หลายตำแหน่ง และระดับสูง หลายตำแหน่ง มีอัตราเงินเดือนแตะหลักมากกว่า 100,000 ถึงกว่า 300,000 บาท จึงยกตัวอย่างอัตราเงินเดือนสายไอที ในบางตำแหน่งงาน ดังนี้
ผู้จัดการแผนกไอที (หรือ ไอที แมเนเจอร์) โดยตำแหน่งระดับกลาง เงินเดือนอยู่ระหว่าง 63,500-126,000 บาท ส่วนตำแหน่งระดับสูง ระหว่าง 115,500-270,000 บาท
ไอที อินฟราสตรักเตอร์ และ โอเปอเรชัน แมเนเจอร์ ตำแหน่งระดับกลาง เงินเดือนระหว่าง 66,150-127,050 บาท และ ตำแหน่งระดับสูง 93,450-264,500 บาท
ส่วนไอที ซีเคียสริตี้ แมเนเจอร์ ในตำแหน่งระดับสูง เงินเดือนระหว่าง 105,000-230,800 บาท
มาที่ ตำแหน่ง ดาต้า เซ็นเตอร์ โอเปอเรชัน แมเนเจอร์ เงินเดือนตำแหน่งระดับเริ่มต้นนั้น อยู่ระหว่าง 56,700-154,350 บาท ตำแหน่งระดับกลาง 65,100-175,000 บาท และตำแหน่งระดับสูง ระหว่าง 88,200 ถึง 200,000 บาท
และ คลาวด์ โซลูชัน อาร์คิเทค ตำแหน่งระดับกลาง เงินเดือนตำแหน่งระหว่าง 66,150-149,100 บาท และตำแหน่งระดับสูงระหว่าง 120,750 - 220,000 บาท
มาดูต่อที่ ตำแหน่ง เอ็นเตอร์ไพร้ซ์ อาร์คิเทค ซึ่งมีเฉพาะตำแหน่งระดับสูงเท่านั้น มีอัตราเงินเดือนอยู่ระหว่าง 131,250-310,000 บาท
ส่วน ซอฟต์แวร์ และ แอปพลิเคชัน อาร์คิเทค ตำแหน่งระดับกลาง ระหว่าง 73,500-131250 บาท และระดับสูง 110,250-195,000 บาท
ส่วน ดาต้า อนาลิสต์ ตำแหน่งระดับเริ่มต้น อยู่ระหว่าง 24,150- 61,950 บาท และระดับกลาง ระหว่าง 54,600-97,500 บาท
ดาต้า เอ็นจีเนียร์ ตำแหน่งเริ่มต้น เงินเดือนระหว่าง 27,300-49,350 บาท ระดับกลาง ระหว่าง 44,100-82,950 บาท และ ตำแหน่งระดับสูง ระหว่าง 71,400-135,000 บาท
ดาต้า ไซแอนทิสต์ ตำแหน่งเริ่มต้น เงินเดือนระหว่าง 42,00-89,250 บาท ระดับกลาง 63,000-141,750 บาท และระดับสูง 89,250-225,500 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากหลายแหล่ง ที่ชี้ว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อนภูมิทัศน์ดิจิทัลด้วย เอไอ ของไทย กำลังดึงดูดการลงทุน เพื่อสนับสนุนการเติบโตดังกล่าว
รายงาน Decoding Global Talent 2024: AI Edition ฉบับล่าสุด ซึ่งจัดทำโดย Jobsdb by SEEK เผยว่า ร้อยละ 62 ของแรงงานไทย ใช้ เจเนอเรทีฟ เอไอ ในชีวิตประจำวัน ทำให้ประเทศไทย กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการนำ เอไอ มาใช้มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม การตลาด ไอที และครีเอทีฟ ที่กำลังก้าวหน้าในด้านการนำ เอไอ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และขับเคลื่อนนวัตกรรม
ด้านจำนวนแรงงานไทยที่ใช้บริการ เจเนอเรทีฟ เอไอ เป็นรายเดือน ก็สูงถึงร้อยละ 48 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนถึงร้อยละ 4 บ่งชี้ได้ว่า ไทยเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและการพัฒนาแรงงานที่ทำงานร่วมกับ เอไอ ในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ ธุรกิจไทยจำนวนมาก กำลังนำ เอไอ มาใช้มากขึ้นในการพัฒนากระบวนการสรรหาบุคลากร และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ขณะเดียวกัน องค์กรต่าง ๆ ก็กำลังมุ่งเน้นการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้าน เอไอ เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการแข่งขันท่ามกลางเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการผนวกการใช้ เจเนอเรทีฟ เอไอ เพื่อปรับปรุงการจ้างงานและความคิดสร้างสรรค์
ก่อนหน้านี้ รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ กูเกิล ก็ชี้ว่า กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีความสนใจและความต้องการด้าน เอไอ สูงที่สุด ส่วนอุตสาหกรรมที่มีความสนใจใน เอไอ ได้แก่ การศึกษา เกม และการตลาด ด้านผู้บริโภคคนไทย ก็ใช้ฟีเจอร์ เอไอ บนอุปกรณ์มือถือ เพื่อผลิตคอนเทนต์ ต่าง ๆ และภาคธุรกิจ ก็ใช้เอไอ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการองค์กรกันมากขึ้น
การเติบโตดังกล่าว ผลักดันให้เกิดการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการนี้ โดยในครึ่งปีแรก มีการลงทุนเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล หรือ ดาต้า เซ็นเตอร์ ในไทย เป็นมูลค่าถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนข้อมูลล่าสุดจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เผยว่า มีโครงการลงทุนในกิจการ ดาต้า เซ็นเตอร์ และ คลาวด์ เซอร์วิส ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว รวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่ ทั้งสัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย
โดย 2 รายล่าสุด ที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน กิจการ ดาตา เซ็นเตอร์ แล้ว ประกอบด้วย บริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง จำกัด ในเครือ กูเกิล มูลค่าลงทุน 32,760 ล้านบาท และบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ในเครือ GDS มูลค่าลงทุน 28,000 ล้านบาท
ที่มาข้อมูล : -