สรุปข่าว
การเลื่อนชั้นจากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศรายได้สูงถือเป็นโจทย์สุดหินสำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะจากบทเรียนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พบว่าเมื่อประเทศต่าง ๆ มีฐานะมั่งคั่งขึ้น พอถึงจุดหนึ่งก็จะติด “กับดัก” ที่หลุดพ้นได้ยาก โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่แถว ๆ ร้อยละ 10 ของสหรัฐฯ หรือประมาณ 8,000 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในช่วงกลาง ๆ ของระดับที่ธนาคารโลกจัดอยู่ในเกณฑ์ “ประเทศรายได้ปานกลาง”
รายงานการพัฒนาโลกประจำปี 2567: กับดักรายได้ปานกลาง (World Development Report 2024 : The Middle Income Trap) ของธนาคารโลกที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ระบุว่า ในช่วงเวลา 34 ปี นับตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน มีเขตเศรษฐกิจรายได้ปานกลางเพียง 34 แห่งเท่านั้น ที่สามารถเลื่อนสถานะขึ้นเป็น “ประเทศรายได้สูง” ครอบคลุมประชากรเพียง 250 ล้านคน //ขณะเดียวกัน มากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนเขตเศรษฐกิจ 34 แห่งได้ประโยชน์จากการผนวกรวมเข้ากับสหภาพยุโรป (EU) หรือค้นพบแหล่งน้ำมันในประเทศอาทิ สโลวีเนีย สโลวาเกีย โรมาเนียซาอุดีอาระเบีย โอมาน
ขณะที่เขตเศรษฐกิจอีกจำนวนมากยังคงอยู่ในกลุ่ม “รายได้ปานกลาง”รวมถึงจีน อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ และไทยโดยธนาคารโลกระบุว่า นับถึงสิ้นปี 2566 มีเขตเศรษฐกิจ 108 แห่งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง แต่ละประเทศมี GDP ต่อคนต่อปี (GDP per capita) อยู่ระหว่าง 1,136-13,845 ดอลลาร์ ประเทศเหล่านี้มีประชากรรวมกัน 6 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75ของประชากรทั้งโลก นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางยังมีGDP รวมกันราวร้อยละ 40ของโลก และปล่อยคาร์บอนมากกว่าร้อยละ 60ของทั้งหมด
ทั้งนี้ ธนาคารโลกแบ่งกลุ่มประเทศตามรายได้ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ประเทศรายได้น้อย (Low-income) ที่มี GDP ต่อคนต่อปีไม่เกิน 1,135 ดอลลาร์ มีจำนวน 26 เขตเศรษฐกิจ // ตามด้วยประเทศรายได้ปานกลางที่แยกย่อยเป็น “ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง” (Lower-middle-income)ที่มี GDP ต่อคนต่อปี ระหว่าง 1,136-4,465 ดอลลาร์ จำนวน 54 เขตเศรษฐกิจ // ส่วน “ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน” (Upper-middle-income) ที่มี GDP ต่อคนต่อปี ระหว่าง 4,466-13,845 ดอลลาร์ จำนวน 54 เขตเศรษฐกิจ // และสุดท้าย “ประเทศรายได้สูง” (High-income) ที่มี GDP ต่อคนต่อปีตั้งแต่ 13,846 ดอลลาร์ขึ้นไป จำนวน 83 เขตเศรษฐกิจ
ประเทศรายได้ปานกลางต่างก็ต้องการขยับขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง อย่างกรณีของ “จีน” แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ตั้งเป้าให้ GDP ต่อคนต่อปีเข้าสู่เกณฑ์ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2578 ส่วน “อินเดีย” กำหนดวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2590 ซึ่งครบรอบ 100 ปีการเป็นเอกราช ด้าน “เวียดนาม” ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2564-2573 เน้นให้ GDP ต่อคนต่อปีเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับร้อยละ 7 ตลอดทศวรรษนี้ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานะประเทศรายได้สูงภายในปี 2588 // หากแผนเหล่านี้ประสบความสำเร็จก็หมายถึงประเทศนั้น ๆ จะเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายใน 1-2 ชั่วอายุคน ซึ่งจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ห่างไกลจากความยากจน
ธนาคารโลกประมาณการโดยใช้แบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจSolow-Swan พบว่าหากปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ การลงทุนในทุนมนุษย์ ปัจจัยที่ทำให้ผลิตภาพเพิ่มขึ้น การมีส่วนร่วมของแรงงาน การลงทุนของภาครัฐและเอกชน ยังสอดคล้องกับแนวโน้มล่าสุดและในอดีต ประเทศที่มีรายได้ปานกลางส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเผชิญภาวะชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญระหว่างปี 2567-2643
การเติบโตของรายได้เฉลี่ยรายปีในประเทศรายได้ปานกลางมีแนวโน้มลดลงเกือบ 1 ใน 3 ช่วง 2 ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 จากร้อยละ 5 ในทศวรรษ 2000 เหลือร้อยละ 3.5 ในทศวรรษ 2010 และก็ไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวในเร็ววัน เนื่องจากประเทศรายได้ปานกลางเผชิญอุปสรรคหลายเรื่องในการหลุดพ้นจากกับดักเพื่อขยับขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงทั้งเรื่องประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ลัทธิกีดกันทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว ปัญหาหนี้ที่พุ่งสูง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รายงานระบุด้วยว่า การจะบรรลุเป้าหมายในการเลื่อนชั้น ประเทศรายได้ปานกลางจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่าน 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การลงทุน (investment) ที่เสริมด้วยการอัดฉีด (infusion) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง โฟกัสที่การลอกเลียนแบบและกระจายเทคโนโลยีที่ทันสมัยในวงกว้าง สำหรับการเปลี่ยนผ่านส่วนที่ 2 คือ การใช้นวัตกรรม (innovation) เข้าไปเสริมการลงทุนและการอัดฉีดในส่วนแรก เพื่อให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศรายได้ปานกลางระดับบน เน้นการสร้างความสามารถในประเทศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเทคโนโลยีระดับโลกซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ประเทศนั้น ๆ กลายเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นเอง
รายงานหยิบยกกรณีของ “เกาหลีใต้” ในฐานะตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้ยุทธศาสตร์3i จนประสบความสำเร็จในการผลักดันตัวเองสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ทั้งที่เมื่อย้อนกลับไปในยุค 1960 รายได้ต่อคนต่อปีของเกาหลีใต้อยู่ที่เพียง 1,200 ดอลลาร์ เทียบกับปี 2566 รายได้พุ่งขึ้นอยู่ที่ 33,000 ดอลลาร์ โดยในระยะแรกเกาหลีใต้เริ่มต้นจากนโยบายผสานการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน พอถึงทศวรรษ 1970 ก็ใช้นโยบายอุตสาหกรรมที่เน้นสนับสนุนให้บริษัทในประเทศรับเทคโนโลยีและวิธีการผลิตที่ทันสมัยจากต่างประเทศมาใช้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น เมื่อกลุ่มบริษัทเกาหลีสามารถตามทันบริษัทต่างชาติได้ ทางการก็ปรับมาใช้นโยบายที่สนับสนุนนวัตกรรม
ที่มา TNN
ที่มาข้อมูล : -