PwC คาดรายได้อุตฯ บันเทิงและสื่อไทยแตะ 6.9 แสนล้านในปี 67

PwC คาดรายได้อุตฯ บันเทิงและสื่อไทยแตะ 6.9 แสนล้านในปี 67

สรุปข่าว

บริษัท PwC ประเทศไทย   คาดการณ์รายได้รวมของกลุ่มอุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อของไทยในปี 67 จะอยู่ที่ 6.9 แสนล้านบาท เติบโตราวร้อยละ 4 จากปีก่อน พร้อมคาดรายได้รวมของกลุ่มอุตสาหกรรมในอีกห้าปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็นเกือบ 8 แสนล้านบาท เหตุธุรกิจสตรีมมิ่งและโฆษณาออนไลน์ช่วยหนุนการเติบโตของตลาด แนะผู้ประกอบการปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งควรดึง GenAIมาช่วยในการวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม


แม้ว่าในปีนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งการแข่งขันทางภูมิศาสตร์และอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลจากรายงานGlobal Entertainment & Media (E&M) Outlook 2024-2028ของ PwC คาดการณ์ว่า รายได้รวมของอุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เป็น 691,375 ล้านบาทในปี 2567 จากปีก่อนที่ 664,204 ล้านบาท


ทั้งนี้ รายงานของ PwC ซึ่งสำรวจข้อมูลด้านรายได้และคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อใน 53 ประเทศและอาณาเขตทั่วโลกระบุว่า รายได้รวมของอุตสาหกรรมความสื่อและบันเทิงของไทยจะสูงถึง 793,020 ล้านบาทในปี 2571 หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 3.5


นางสาวธิตินันท์ แว่นแก้วหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อของไทยจะยังสามารถเติบโตได้ในปีนี้แม้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว โดยธุรกิจในบางเซ็กเมนต์จะเติบโตสูงตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปใช้อินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น


ข้อมูลจากรายงานของ PwC ระบุว่า บริการวิดีโอแบบ over-the-top เติบโตร้อยละ 27 จากปีก่อนมาที่ 28,043 ล้านบาท โฆษณาออนไลน์ หรือโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต เติบโตร้อยละ 13 จากปีก่อนมาที่ 58,358 ล้านบาท และโฆษณานอกบ้าน เติบโตร้อยละ 8 จากปีก่อนมาที่ 17,286 ล้านบาท จะเป็นประเภทของธุรกิจความบันเทิงและสื่อของไทยที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดสามอันดับแรกในปี 2567


นางสาวธิตินันท์กล่าวต่อว่า ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้บริการสื่อประเภท over-the-top โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิดีโอสตรีมมิ่ง รวมไปถึงโฆษณาออนไลน์ เป็นสองเซ็กเมนต์ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย 


อย่างไรก็ดี อัตราเร่งของการเติบโตน่าจะค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากผู้ให้บริการกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งในส่วนของคอนเทนต์และการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ ๆ รวมไปถึงความท้าทายในการทำให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินสำหรับสินค้าและบริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ในระยะถัดไปสตรีมเมอร์คงจะต้องมีการปรับรูปแบบธุรกิจและแสวงหารายได้ใหม่ ๆ นอกเหนือจากการสมัครสมาชิก รวมถึงการเปิดตัวรูปแบบตามโฆษณา การลดค่าธรรมเนียมการสมัครสมาชิก และอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งโอกาสในการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการสมัครสมาชิกจากการแข่งขันที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

โฆษณา
อุตสาหกรรมบันเทิง
วิดีโอสตรีมมิ่ง
pwc
โฆษณาออนไลน์