จับตา! ทีมไทยแลนด์ บินเจรจาสหรัฐฯเรื่องภาษี ปลายสัปดาห์นี้

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่มีการสรุปประเด็นของคณะกรรมการติดตามมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกา ทั้งในส่วนกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สภาหอการค้าไทย และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ผู้ส่งออกและนำเข้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม  เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
 
ในวันอังคารที่ 15 เมษายนนี้ คณะกรรมการฯจะสรุปผลทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์ผลได้ ผลเสียและความเป็นไปได้ เพื่อเตรียมเป็นข้อมูลในการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ  โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  พร้อมคณะผู้เจรจาจะเดินทางล่วงหน้าไป ที่นครซีแอตเทิล สหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน  นี้ 

จับตา! ทีมไทยแลนด์ บินเจรจาสหรัฐฯเรื่องภาษี ปลายสัปดาห์นี้

สรุปข่าว

ผู้แทนประเทศไทย มั่นใจ "รมว.คลัง - รมว.พาณิชย์" ถือธงเจรจาสหรัฐฯ ปลายสัปดาห์นี้ ยืนยันต้องนำประโยชน์ของประเทศไทยในตลาดโลกกลับมาให้มากที่สุด

โดยคณะล่วงหน้าจะเดินทางไปพบกับนักธุรกิจในกลุ่มต่างๆ ทั้ง ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนด้านอื่นๆ  จากนั้นในวันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน นี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปร่วมกับคณะของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็น“ทีมไทยแลนด์ ”และทั้งคณะจะเดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อเตรียมเข้าพบกับผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐ ฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันจันทร์ที่ 21 เมษายน นี้
 
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่ารัฐบาลไทยมีความพร้อมในการพูดคุยโดยข้อมูลทั้งหมดได้ถูกรวบรวมมาตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน  ผ่านการประชุมหารือ ทั้งในส่วนของรัฐบาลและทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชน อาทิ ผู้แทนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย  ผู้แทนบริษัทธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและสินค้าทั้งหมดที่มีการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ยุทธศาสตร์การเจรจาที่เน้น  “สร้างความสมดุลทางการค้าและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”  ทั้งนี้เชื่อว่าจะ เป็นการปูทางสู่การเจรจาเชิงลึกระหว่างไทย-สหรัฐ ฯ ในระดับต่างๆ ในโอกาสต่อไป  

คณะเจรจายังมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีทางออกที่ดีที่สุดในการค้าระหว่างประเทศครั้งนี้อย่างแน่นอน สำหรับแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าและมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ ภายใต้ 5 หลักการดังนี้
 

1.การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่ไทยและสหรัฐฯ เกื้อหนุนกัน โดยรัฐบาลไทยเห็นว่าความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพร่วมกัน เช่น เกษตร-อาหาร และเทคโนโลยี ถือเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสองประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตพรีเมียมเกรดและสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลกได้มากขึ้น หากมีการเสริมวัตถุดิบจากสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด ที่มีต้นทุนต่ำและคุณภาพสูง

2.การเปิดตลาดและลดภาษี ลดอุปสรรคทางการค้าตาม National Trade Estimate  2025 ของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลพร้อมพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า และบริหารโควตาสินค้าเกษตรที่สหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น ข้าวโพด เพื่อเปิดตลาดในลักษณะที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ โดยจัดสรรการนำเข้าเฉพาะช่วงที่สินค้าในประเทศขาดแคลน สร้างระบบการค้าที่เป็นธรรมและยืดหยุ่นต่อทุกฝ่าย

3.การเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ ในสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องใช้ โดยไทยเตรียมพิจารณานำเข้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบที่ภาคอุตสาหกรรมต้องใช้แต่ผลิตไม่ได้เพียงพอ เช่น วัตถุดิบด้านปิโตรเคมี หรือเครื่องบินพาณิชย์ เพื่อเติมเต็ม supply chain ของประเทศ รวมถึงสินค้าที่ประเทศไทยเป็น Net Importer อาทิ ชีส ถั่ววอลนัท ผลไม้สดที่ไทยผลิตเองไม่ได้ เช่น เชอรี่ แอปเปิ้ลซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้ลดการได้เปรียบดุลการค้า

4.การตรวจสอบเพิ่มความเข้มงวดสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม โดยรัฐบาลตระหนักถึงความกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าราคาต่ำจากประเทศที่สามผ่านไทย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จึงจะมีมาตรการคัดกรองสินค้าต้นทาง ตรวจสอบแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด และยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้โปร่งใสและเป็นไปตามหลักสากล สร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้าที่มีธรรมาภิบาล

5.การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แล้ว ไทยยังมีแผนผลักดันให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ผลิตสินค้าส่งออกจากฐานการผลิตในอเมริกาไปยังตลาดโลก ซึ่งไม่เพียงช่วยกระจายความเสี่ยง แต่ยังช่วยลดแรงต้านด้านการค้าและสร้าง value chain ใหม่ที่เข้มแข็ง
 
ทั้งนี้ ในการประชุมหารือและได้ข้อสรุปในทุกประเด็นดังกล่าวแล้วนั้น ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบทุกระยะซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้คณะเจรจาดำเนินการให้เต็มที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายทั้งการค้าระหว่างประเทศและภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นส่วนสำคัญในการนำผลิตภัณฑ์เมดอินไทยแลนด์ ไปสู่ตลาดสหรัฐและตลาดโลกต่อไป  นายจิรายุกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ทรัมป์ยอมถอย สั่งยกเว้นภาษีสมาร์ทโฟน-คอมพิวเตอร์ สินค้าจากจีนก็ไม่โดน

- จีนเรียกร้องสหรัฐฯ ยกเลิกขึ้นภาษีสินค้าจีนทั้งหมด

- แก้เกม "ภาษีสหรัฐฯ" ได้หรือไม่ แค่ไทยเพิ่มการนำเข้า

ที่มาข้อมูล : รัฐบาล

ที่มารูปภาพ : Getty Images/AFP/กระทรวงการคลัง