สรุปข่าว
Deepfake หรือสื่อลวงลึกเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) ในการสร้างสื่อสังเคราะห์ที่มีการปรับแต่งผ่านดิจิทัล ทั้งในรูปแบบภาพนิ่ง เสียง และภาพเคลื่อนไหว ที่มีความเหมือนจริงจนแยกแทบไม่ออกโดยใช้ระบบการเรียนรู้เชิงลึกDeep Learning จากลักษณะภายนอกของบุคคลซึ่งที่จริงแล้ว สื่อสังเคราะห์แบบนี้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อาทิ การทำสื่อการเรียนการสอนจากการจำลองภาพบุคคลเพื่อให้มีความน่าสนใจ หรือการใช้ในแวดวงภาพยนตร์ แต่ปัจจุบัน Deepfake กำลังกลายเป็นภัยคุกคามเนื่องจากบรรดามิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวงผู้คนทั่วโลก
Deepfake ไม่ได้หลอกลวงแค่คนทั่วไปเท่านั้น แต่บริษัทชั้นนำก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ผู้บริหารระดับสูงของ “เฟอร์รารี” (Ferrari)ได้รับข้อความจำนวนมากจากหมายเลขที่ไม่รู้จัก ซึ่งอ้างว่าเป็น“เบเนเดตโต วีญญา”CEO ของบริษัท ระบุถึงข้อตกลงซื้อกิจการใหม่ที่ยังเป็นความลับ โดยขอให้ผู้บริหารช่วยเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล พร้อมระบุด้วยว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และตลาดหุ้นอิตาลีได้รับแจ้งเรื่องนี้แล้ว ขอให้ทุกคนเตรียมพร้อมและระมัดระวัง
หลังจากนั้น ผู้บริหารก็ได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่รู้จัก น้ำเสียงของคนพูดฟังดูคล้าย CEO ตัวจริงที่มีสำเนียงอิตาลีตอนใต้อันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งอ้างว่าใช้หมายเลขมือถืออื่นเพื่อความปลอดภัยในการหารือเรื่องที่เป็นความลับ และจำเป็นต้องทำธุรกรรมทางการเงินด่วนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน // อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารระดับสูงของ “เฟอร์รารี” รู้สึกสงสัยและสังเกตถึงความผิดปกติในน้ำเสียง แม้ว่าจะน่าเชื่อถือ เขาจึงตั้งคำถามให้ CEO ยืนยันตัวตน โดยถามถึงหนังสือที่ CEO เคยแนะนำให้อ่านเมื่อไม่กี่วันก่อน และนั่นทำให้การสนทนาจบลงอย่างกะทันหัน
ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่WPP ก็ถูกมิจฉาชีพปลอมเสียง CEO “มาร์ก รี้ด” รวมถึงใช้ภาพที่เผยแพร่ต่อสาธารณะในการสร้างบัญชี WhatsApp ปลอม จากนั้นก็นัดกับทีมผู้บริหารระดับสูงคุยกันผ่านแอปพลิเคชันไมโครซอฟท์ ทีม เพื่อให้ตั้งธุรกิจใหม่ที่เน้นเงินและข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกรณีนี้มิจฉาชีพก็ไม่ประสบความสำเร็จ // แต่กรณีของพนักงานบริษัทในฮ่องกงถูกหลอกให้โอนเงินสำเร็จจากการติดต่อผ่านวิดีโอคอลล์ที่ใช้ Deepfake อ้างเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโส สร้างความเสียหายมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปลายเดือนมกราคมปีนี้
ทั้ง 3 เหตุการณ์เป็นตัวอย่างของการหลอกลวงโดยใช้ Deepfakeที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นในภาคธุรกิจ ทำให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกสูญเสียเงินไปจำนวนมากขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เตือนว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจเลวร้ายลง เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถใช้ประโยชน์จาก AI แบบรู้สร้างที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อทำสื่อDeepfake สำหรับฉ้อโกงมากขึ้น
“เดวิด แฟร์แมน”ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศและความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ “เน็ตสโคป” (Netskope) ประเมินว่า ภัยคุกคามดังกล่าวเพิ่มขึ้นหลังการเปิดตัวแชตบอตอัจฉริยะChatGPT ของบริษัทOpen AI เมื่อปี 2565 ทำให้เทคโนโลยี AI แบบรู้สร้างกลายเป็นกระแสหลักได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันก็ช่วยลดอุปสรรคสำหรับอาชญากรไซเบอร์ เพราะไม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูงอีกต่อไปก็สามารถหลอกลวงเหยื่อได้ ทำให้ปริมาณและความซับซ้อนของการหลอกลวงเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยี AI
แต่ความเสียหายจากDeepfake ไม่ได้มีแค่การเลียนแบบเสียงเท่านั้น และสามารถสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แบบไม่มีข้อยกเว้น เว็บไซต์ securityintelligence.comที่วิเคราะห์ข้อมูลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ประเมินว่า ต้นทุนเฉลี่ยในการสร้าง Deepfake อยู่ที่ประมาณ 1.33 ดอลลาร์ แต่ความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั่วโลกจากการหลอกลวงโดยใช้ Deepfake ในปีนี้ น่าจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ สะท้อนว่า Deepfake อาจเป็นภัยคุกคามต่อตลาดและเศรษฐกิจในวงกว้างยกตัวอย่างข่าวปลอมเหตุระเบิดใกล้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วก็ทำให้เกิดความตื่นตระหนกของตลาดหุ้น ก่อนจะยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม ดังนั้น ยิ่งDeepfake มีความซับซ้อนมากขึ้นก็อาจสร้างความเสียหายต่อมูลค่าบริษัทและเศรษฐกิจโลกรุนแรงขึ้น
Deepfake ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในภาคการเงินที่มักเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ ทั้งการปลอมเสียงเพื่อเข้าถึงบัญชีของลูกค้าและฉ้อโกงเงินด้วยวิธีต่าง ๆ แม้ธนาคารและสถาบันการเงินจะมีระบบป้องกันความปลอดภัย แต่เทคโนโลยี Deepfake ที่ก้าวหน้าขึ้นก็ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย // ข้อมูลจากแพลตฟอร์มยืนยันตัวตน “ซัมซับ” (Sumsub) ระบุว่า ในปี 2566 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ Deepfake ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค เพิ่มขึ้นร้อยละ 700 เมื่อเทียบกับปี 2565
ที่มา TNN
ที่มาข้อมูล : -