![บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร? รัฐบาลเตรียมใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท](/static/images/4ed4e4eb-aa31-4d18-aa4b-ac5b4f96f388.jpg)
![บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร? รัฐบาลเตรียมใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท](/static/images/4ed4e4eb-aa31-4d18-aa4b-ac5b4f96f388.jpg)
สรุปข่าว
ทำความรู้จัก บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร? หลังรัฐบาลเตรียมใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้ประชาชน
บล็อกเชนคืออะไร? ความคืบหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) 10,000 บาท ให้กับประชาชนตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย โดยก่อนหน้านี้ยังมีความสับสนในเรื่องของช่องทางการจ่ายเงิน
ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนในนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยยืนยันว่า เป็นการใช้บล็อกเชน (Blockchain) อย่างแน่นอน โดยจะใช้ได้ภายในไตรมาสแรกปี 2567
เช่นเดียวกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ที่ได้ออกมาเปิดเผยถึงโครงการจ่ายนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า จะดำเนินการผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยจะไม่จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง"
ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 หรือภายในไตรมาส 1 ปี 2567 เพื่อให้ทันกับการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ให้คนไทยจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดเพื่อไปใช้จ่าย
ทั้งนี้ การจ่ายเงินเงินดิจิทัลวอลเล็ต นอกจากจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายที่ประชาชนอยู่ในช่วงขาดกำลังซื้อแล้ว จะผลดีต่อการจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อการใช้จ่าย 1 รอบ
สำหรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น ผู้มีสิทธิได้รับ คือ ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งจะได้สิทธิทั้งหมด 56 ล้านคน ยึดที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เบื้องต้นให้ใช้จ่ายกับร้านค้าในรัศมี 4 กิโลเมตร แต่ขณะนี้กำลังพิจารณาปรับเพิ่มรัศมีร้านค้าให้เหมาะสม ไม่ต้องมีการพิสูจน์ความจน
บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร?
เทคโนโลยี บล็อกเชน (Blockchain) นวัตกรรมที่เข้ามาตอบโจทย์คนยุคใหม่ในเรื่องความง่ายและรวดเร็วในการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์เพียงไม่กี่วินาที แม้จะไม่มีธนาคารตัวกลางแต่ยังคงความปลอดภัยเหมือนเดิม และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวนมาก
บล็อกเชน คือ เทคโนโลยีตัวช่วยด้านความปลอดภัย (Security) และความน่าเชื่อถือ (Trust) ในการทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง บล็อกเชนจึงเหมาะแก่การนำไปประยุกต์ใช้กับการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือ FinTech เช่น การรับ จ่าย โอน หรือวิเคราะห์ข้อมูลหุ้นเพื่อตัดสินใจลงทุนบนออนไลน์ ซึ่งมีทั้งความสะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว และสำคัญที่สุด คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย
เหตุผลสำคัญที่ บล็อกเชน เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ก็เพราะว่าบล็อกเชนคือเทคโนโลยีแบบกระจายอำนาจที่ไม่ขึ้นกับตัวกลาง (decentralized technology) แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกจัดการด้วยตัวเครือข่ายเอง และไม่มีอำนาจจากตัวกลางใดเข้ามาแทรกแซงได้
บล็อกเชน เปรียบเหมือนกับสื่อกลางที่เอาไว้ใช้ดำเนินธุรกรรมทุกอย่างในโลก Cryptocurrency โดยเริ่มต้นจากการสร้างชุดเก็บข้อมูลที่เรียกว่า (Block) แล้วส่งไปเรียงต่อกันเรื่อยๆ ในลักษณะคล้ายโซ่คล้องกัน เรียกว่า (Chain) ต่อมาข้อมูลจะได้รับการเข้ารหัสพร้อมระบุว่าถูกจัดเก็บเมื่อใด หรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม จากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่ายบล็อกเชนทุกเครื่อง
บล็อกเชน ไม่ได้มอบประโยชน์เฉพาะแต่เรื่องการเงินการธนาคารเท่านั้น แต่ยังนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อปรับใช้กับอุตสาหกรรมหรือองค์กรใดๆ ก็ตามที่ต้องการปรับกระบวนการทำงานให้มีความปลอดภัย โปร่งใส รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อาจกล่าวได้ว่า บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถพัฒนาหลายสิ่งในโลกให้ดีขึ้นได้ไม่น้อย
ข้อมูลอ้างอิงจาก bitkub / krungsri
ภาพจาก TNN ONLINE / AFP
ที่มาข้อมูล : -