

สรุปข่าว
รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำ "ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ" (NRRI) เพื่อหาเครื่องมือวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนในประเทศไทยหลังเกษียณ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ทั้งในระดับประเทศและระดับบุคคล
ทั้งนี้ พบว่าตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40 % ขณะที่ความพร้อมด้านสุขภาพมีความพร้อมในระดับที่สูงกว่ามิติด้านการเงิน ซึ่งการมีความพร้อมจากการมีความสุข ด้านสุขภาพสูงกว่าความพร้อมจากความสุขด้านการเงิน ดังนั้นต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอจึงเป็นอีกโจทย์หนึ่ง
สำหรับผู้ที่มีส่วนด้านการออมที่สำคัญที่สุด อันดับแรกคือ ประชาชนทุกคนต้องมีความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออม รองลงมาคือภาครัฐต้องมีบทบาทในการสนับสนุนทักษะทางการเงินของประชาชน ต้องมีนโยบายส่งเสริมให้คนมีทักษะและความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าต้องออม และจะนำไปสู่ความรู้ว่าจะออมอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ถูกหลอกทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมให้มีเครื่องมือการลงทุน ระบบการออมภาคบังคับ
อย่างไรก็ตาม ขอชักชวนแรงงานในระบบใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้สูงสุด ต้องรู้ว่าตัวเองสามารถลดหย่อนได้ 15% ไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้น สิ่งที่ใส่ใน PVD, สิ่งที่ใส่ไปซื้อ RMF สิ่งที่ไปซื้อประกันสุขภาพที่มีการออมเพื่อเกษียณนั้นสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ จึงอยากให้ทุกคนออมผ่านรูปแบบไหนก็ได้ ให้ได้สัดส่วน 15% ของรายได้
รศ.ดร.พรอนงค์ กล่าวแนะนำการออมสำหรับแรงงานนอกระบบว่า ขอให้มีวินัยด้านการออม หากระบบที่มีอยู่ยังไม่เอื้อจะต้องขวนขวายด้วยตัวเอง เช่น การเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 รวมถึงเข้าสู่การออมใน RMF เป็นต้น ฉะนั้นขอให้ปรับพฤติกรรมใหม่ คือ สร้างวินัยการออม โดยเฉพาะอาชีพอิสระไม่ควรลงทุนในสิ่งที่เสี่ยง ควรปรับสัดส่วนการออมและความสม่ำเสมอ จากที่เคยพบพฤติกรรมการออมคือออมจำนวนมากในครั้งเดียวแล้วหายไป 3 ปี หลังจากนั้นเมื่อเก็บเงินได้ใหม่จึงจะออมอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ หวังว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยการออมของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจากการเริ่มทำวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อน ได้พบว่าระบบบำนาญครอบคลุมในสัดส่วน 40:60 แต่ปัจจุบันกลับหัวเป็นสัดส่วน 60:40 หมายความว่าตัวเลขดีขึ้น แต่ยังไม่เร็วพอกับการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด ดังนั้น ต้องตระหนักรู้ให้เร็วและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ภาพจาก TNN ONLINE
ที่มาข้อมูล : -