สรุปข่าว
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะปรับตัวสูงถึง 4.9%เกินกว่ากรอบเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจปีนี้ยังเติบโต 3.2% ขณะที่ปี 64 โต 1.6% และการเกิด Stagflation ต้องประกอบด้วย อัตราเงินเฟ้อสูง ควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ธปท.ได้มีการออกมาตรการทางการเงินไปแล้วหลายมาตรการ เพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชน และภาคธุรกิจจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด ซึ่งหน้าที่สำคัญของ ธปท.คือการทำงานธนาคารพาณิชย์ ระบบการเงิน และตลาดการเงินยังทำงานได้อย่างปกติที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นจะยิ่งเกิดวิกฤติซ้ำเติมสถานการณ์มากขึ้น
โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ให้ความช่วยเหลือทั้งในส่วนของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตลอดจนการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบธนาคารพาณิชย์สามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด อย่างไรก็ดี ยังต้องมีการออกมาตรการเพื่อช่วยเสริมการทำงานของระบบการเงินในช่วงที่เกิดวิกฤติดังกล่าว ซึ่งเป็นการช่วยเติมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ เช่น มาตรการเติมเงินใหม่ และแก้หนี้เดิม ทั้งในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้
ซึ่งมาตรการที่ออกมาในช่วงแรกนั้น อาจจะยังเป็นมาตรการแบบปูพรม ประกอบกับสถานการณ์โควิดยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ จึงต้องมีการปรับปรุงมาตรการให้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงได้อย่างตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับการทำนโยบายของหลายประเทศเพื่อแก้ปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจมีทิศทางที่คล้ายกัน รวมถึงไทย คือ ต้องให้นโยบายการคลังเป็นพระเอก โดยอาจต้องยอมให้มีการขาดดุลงบประมาณ หรือหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นบ้าง ในขณะที่นโยบายการเงินก็ต้องดูแลเพื่อให้ระบบธนาคาร และตลาดการเงินทำงานได้อย่างเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ไทยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด เหตุต้องดูปัจจัยในประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ธปท. จะพิจารณาจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก 3 ด้าน คือ 1.อัตราเงินเฟ้อ 2.เสถียรภาพระบบการเงิน และ 3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยเรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ยก็จะไม่ตัดทิ้ง ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม การที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้น ทำให้ ธปท. จำเป็นต้องจับตาใน 2 ประเด็น คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทย แต่ในขณะนี้ในภาพรวมของเงินทุนเคลื่อนย้ายยังไม่พบความผิดปกติหรือน่าเป็นห่วง ขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังมีความเข้มแข็ง เพราะหนี้ต่างประเทศไม่สูงมาก อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ ยังมีความผันผวนสูง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะจากทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินหยวนของจีน โดยตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าลงไป 3% แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับคู่แข่ง และยังเป็นทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนนี้อาจจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนสถานการณ์คริปโทเคอร์เรนซีที่ถูกมองว่าอยู่ในช่วงขาลงนั้น สถานการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนในสิ่งที่ ธปท.มีความกังวลมาโดยตลอด และยังคงยืนยันว่าคริปโทเคอร์เรนซีไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นสื่อกลางในการใช้แลกเปลี่ยนชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจบุนนักลงทุนคงได้เห็นและพิจารณากับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
ที่มา นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ภาพประกอบ ธปท.
ที่มาข้อมูล : -