

สรุปข่าว
รถไฟฟ้านับเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาลงทุนหลายโครงการ โดยตามแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลฉบับสมบูรณ์ ที่รัฐวางแผนจะพัฒนา มีด้วยกันทั้งหมด 13 สายคือ สายสีแดงเข้ม,สายสีแดงอ่อน,สายท่าอากาศยาน,สายสีเขียวเข้ม,สายสีเขียวอ่อน,สายสีเงิน,สายสีม่วง,สายสีทอง,สายสีน้ำตาล,สายสีฟ้า,สายสีเทา,สายสีส้ม,สายชมพู และตั้งเป้าหมาย ภายใน 15 ปีข้างหน้า จะมีรถไฟฟ้าครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งหากทำได้จริงจะเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางของประชาชนอย่างมาก
ปัจจุบันมีโครงการรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 6 สาย ประกอบไปด้วย สายสีเขียว หมอชิต-สำโรง,สายสีเขียวเข้มหมอชิต-สำโรง, สายสีเขียวเข้มส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ ,สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า,รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-หัวลำโพง,สาย Airport Rail Link พญาไท-สุวรรณภูมิ,สายสีม่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จ มีจำนวน 8 โครงการ ที่จะทยอยเปิดไปจนถึงปี 2566
เปิดให้บริการปี 2566
เริ่มนับจากสถานีที่จะมีการเปิดบริการในปี 2566 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี
โดยมีเส้นทางเดินรถ เชื่อมกับสายสีน้ำเงิน สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ แล้ววิ่งตามแนวถนนวัฒนธรรม มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ผ่านแยกพระราม 9-ประดิษฐ์มนูธรรม เข้าสู่ถนนรามคำแหง ผ่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง ราชมังคลากีฬาสถาน ไปจนถึงแยกลำสาลี ผ่านจุดตัดถนนศรีบูรพา จากนั้นจึงเริ่มยกระดับตามแนวเกาะกลางถนนเข้าสู่สถานีบ้านม้า ยกข้ามทางแยกต่างระดับรามคำแหงจุดตัดถนนกาญจนาภิเษก ผ่านแยกลาดบัวขาวจุดตัดถนนมีนพัฒนา ผ่านเคหะรามคำแหง ไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีมีนบุรี บริเวณก่อนถึงแยกรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)
เปิดให้บริการปี 2564
โครงการที่จะเปิดบริการในปี 2564 นัจากนี้อีก 2 ปี คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นรูปแบบโมโนเรล จะมีจุดเริ่มต้นจากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว และมีจุดตัดกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีมีนบุรี แอร์พอร์ตลิงค์ที่สถานีหัวหมาก และสถานีสำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งรูปแบบจะเป็นโมโนเรล รางเดี่ยว ใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่นาน ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร จะมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง สายสีเทาและสายสีส้ม
เปิดให้บริการปี 2563
โครงการที่จะเปิดให้ใช้บริการในปี2563 หรือในปีหน้า คือสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต จะเป็นระบบรถไฟชานเมือง ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 10 สถานี โดยเส้นทางเดินรถจะเริ่มต้นโครงการที่สถานีบางซื่อ บริเวณสามแยกประดิพัทธ์ ไปตามแนวเขตทางรถไฟในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ผ่านเขตจตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และไปสิ้นสุดที่สถานีรังสิต จังหวัดปทุมธานี
นอกจากนั้นยังมีสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เป็นระบบรถไฟชานเมืองเช่นกันระยะทาง 15 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 6 สถานี เส้นทางจะเริ่มจากสถานีรถไฟตลิ่งชัน เข้าเมืองมาตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้ จนสุดเส้นทางที่สถานีบางซ่อน ซึ่งจะเป็นสถานียกระดับ เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ในอนาคต รวมทั้ง สายสีเขียวเข้ม หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร เป็นรูปแบบยกระดับทั้งหมด 16 สถานี ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จไปแล้วเกิน 50%
โดยเส้นทางเดินรถ เริ่มต้นจากแนวเส้นทางจากสถานีหมอชิต ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณแยกหลักสี่และเบี่ยงออกด้านขวาเลียบไปตามขอบอุโมงค์ลอดแยกหลักสี่ และเบี่ยงเข้าสู่เกาะกลางดังเดิม ไปจนถึงบริเวณสะพานใหม่หน้าตลาดยิ่งเจริญ และเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก ผ่านบริเวณด้านข้างของสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่บริเวณเกาะกลางของถนนลำลูกกา และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง บริเวณสถานีคูคต
เปิดให้บริการปี 2562
สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างเร่งการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E Work) ซึ่งมีความคืบหน้าไปกว่า 80.63% โดยแบ่งเป็นความคืบหน้างานระบบรถไฟฟ้าช่วงหัวลำโพง – บางแค 89.73% และช่วงเตาปูน – ท่าพระ 68.69% (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562)
ล่าสุด กำหนดที่จะเปิดทดสอบและเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในวันที่ 12 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ส่วนต่อขยายไปถึงสถานีหลักสองจะเปิดทดสอบ และให้ประชาชนใช้บริการฟรี ก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ในเดือน กันยายน 62 นี้
ขณะที่ ส่วนต่อขยายอีกด้านหนึ่ง จากสถานีบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งก็จะทำให้การเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบลูป (วงกลม) โดยทั้ง รฟม. และ BEM ยืนยันว่าส่วนต่อขยายด้านนี้ จะสามารถเปิดเดินรถทดสอบให้ประชาชนใช้บริการฟรีได้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในเดือนมีนาคม 2563
ทั้งนี้ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เปิดให้บริการครบลูป มั่นใจว่า จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันนี้ที่มีผู้โดยสาร วันละประมาณ 350,000 คน จะเพิ่มขึ้นเป็นวันละกว่า 800,000 คน ภายในเวลาครึ่งปีหรือ 6 เดือน หลังเปิดให้บริการครบลูป
หากโครงการรถไฟฟ้าก่อสร้างเสร็จแล้วทั้งหมด ก็เชื่อว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ลดระยะเวลาการเดินทางได้มากขึ้น และคาดหวังว่าจะช่วยแบ่งเบาปัญหาปัญหาการจราจรบนท้องถนนได้อีกทาง ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดด้วย
ที่มาข้อมูล : -