
นี่คือเหล็กจากจุดอาคาร สตง. ถล่ม ที่ รมว.อุตสาหกรรม เห็นแล้ว บอกว่า ถึงกับอึ้ง
มันเป็นเหล็กจากบริษัทที่กระทรวงอุตสาหกรรม เคยสั่งปิดสายการผลิต ส่งปรับ และตั้งโทษจำคุก เพราะผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐาน ตกเกรด เสี่ยงอันตราย และวันนี้ เราก็พบว่ามันเป็นเหล็กที่ใช้ก่อสร้างอาคาร สตง.
มันคือ เหล็กของบริษัท ซินเคอหยวน ที่เกือบจะกลายเป็นว่าที่ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดของไทย แต่สัญชาติจีน ด้วยกำลังการผลิตถึง 8.6 ล้านตันต่อปี

สรุปข่าว
เหล็กเส้นข้ออ้อย คือเหล็กสำคัญที่สุด เพราะใช้สำหรับการก่อสร้างอาคารสูง รับน้ำหนักมาก จึงต้องมีคุณภาพ
แต่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเหล็ก 28 เส้นมาตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว ผลปรากฏว่า
มีทั้งที่ผ่านมาตรฐาน และไม่ผ่านมาตรฐาน จากการเก็บตัวอย่างเบื้องต้น
ข้อสำคัญคือ เหล็กเกือบทั้งหมด เป็นของบริษัท SKY หรือบริษัท ซินเคอหยวน นั่นเอง ซึ่งตัวอย่างเหล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มีทั้งปัญหาการต้านแรงดึงที่ศูนย์กลาง และไม่ตรงมาตรฐานมวลต่อเมตร
หมายความว่า การก่อสร้างจะมีความเสี่ยงมากขึ้น หากเหล็กไม่ได้มาตรฐาน แม้จะฟันธงไม่ได้ว่า เหล็กเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้อาคารถล่มได้
แล้วบริษัท ซินเคอหยวน คือบริษัทอะไรกันแน่
ซินเคอหยวน จำกัด เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กแผ่นรายใหญ่ของจีน ที่เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยเมื่อหลายปีที่แล้ว
บริษัทนี้ กลายเป็นข่าวใหญ่ช่วงหนึ่ง เพราะกดราคา แย่งส่วนแบ่งการตลาด จนบริษัทไทยหลายแห่งต้องปิดตัวลง รวมถึงบริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพ จำกัด ที่ทำธุรกิจมานาน 60 ปีด้วย
สำหรับ ซินเคอหยวนนั้น พยายามจะตั้งโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กรีดเย็น และเหล็อเคลือบทรงแบนใหม่ ด้วยกำลังการผลิต 5.6 ล้านตันต่อปี ด้วยสายการผลิตยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ในจังหวัดปราจีนบุรี
หากรวมกำลังการผลิตเดิมของซินเคอหวน คือ เหล็ดลวดและผลิตภัณฑ์ 2.8 ล้านตันต่อปี เหล็กเส้นข้ออ้อย 132,000 ตันต่อปี และเหล็กเส้นกลม 66,000 ตันต่อปี จะทำให้ซินเคอหยวน ขึ้นแท่นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยกำลังการผลิตถึง 8.6 ล้านตันต่อปี
แต่ต่อมา มี.ค. 2567 เกิดอุบัติเหตุที่เป็นข่าวใหญ่ของไทย คือ ปั้นจั่นหอสูง 20 เมตร ถล่มทับลูกจ้างเสียชีวิต 7 คน ตามด้วยการระเบิดของก๊าซ LPG ในระยอง บาดเจ็บ 5 ราย
อุบัติเหตุเหล่านี้ ทำให้มีการตรวจสอบมาตรฐานเหล็กที่อายัดไว้จากเหตุเพลิงไหม้ และพบว่า เหล็กไม่ได้มาตรฐานในด้านความแข็งแรงของเหล็ก บริษัทก็ถูกสั่งปิดสายการผลิตไป จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขเสร็จสิ้น
การพบเหล็กซินเคอหยวน ในการก่อสร้าง ตึก สตง. นั้น แปลกไหม ก็ต้องยอมรับว่าไม่น่าแปลกใจขนาดนั้น เพราะบริษัทถูกสั่งปิดสายการผลิตไปเมื่อปลายปี 2567
แต่การก่อสร้างอาคาร สตง. เริ่มในช่วงต้นปี 2564 จึงยังมีโอกาสที่เหล็กจะถูกนำมาใช้ในการก่อสร้าง
ที่มาข้อมูล : TNN Online
ที่มารูปภาพ : SKY and Freepik

กองบรรณาธิการ TNN