
ตึกถล่มลงมาในพริบตา จากเหตุแผ่นดินไหวในไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้คนไทยเราหันมาสนใจเรื่องของโครงสร้างตึก และมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้น และคำนึงที่ถูกยกขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบตึกเหล่านี้ คือคำว่า ‘ตึกเต้าหู้’
ตึกเต้าหู้ หรือ โครงการกากเต้าหู้ ( 豆腐渣工程;)
ตึกเต้าหู้ อาคารเต้าหู้ หรือโครงการกากเต้าหู้ ( 豆腐渣工程;) เป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่ใช้เรียกตึก หรือสิ่งปลูกสร้างที่มีโครงสร้างคุณภาพต่ำหรือห่วย ซึ่งคำนี้ถูกเรียกครั้งแรกโดย จู หรงจือ อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศจีนในปี 1998 ขณะเดินทางไปจิ่วเจียง มณฑลเจียงซี ซึ่งเขาได้เรียกพนังกั้นน้ำบนแม่น้ำแยงซีที่สร้างขึ้นห่วยๆ ว่าโครงการกากเต้าหู้
กากเต้าหู้ คือการเปรียบถึงการผลิตเต้าหู้ ที่ในการผลิตมักจะเหลือเศษซาก หรือกาก ซึ่งโครงการ หรือตึกที่ไม่มีคุณภาพก็ถูกเปรียบแทนว่าผลิตอย่างลวกๆ ไร้คุณภาพ
หลังจากนั้น เมื่อจีนพบกับเหตุแผ่นดินไหวที่สีฉวน ในปี 2008 ซึ่งมีตึกถล่มลงมาจำนวนมาก รวมถึงความเสียหายที่รุนแรง คำนี้ก็กลายเป็นที่นิยมในการเรียกตึกเหล่านี้มากขึ้น จนนำมาสู่การตรวจสอบ และปราบคอร์รัปชันจากการสร้างตึกเหล่านี้ด้วย
โดยสถาปนิกชาวจีน หลี่ ฮู ชี้ว่า จำนวนของสิ่งปลูกสร้าง หรือตึกกากเต้าหู้ในจีน มีมากกว่าสิ่งปลูกสร้างที่ปราศจากปัญหาในการก่อสร้างเสียอีก เขาชี้ว่าแม้ว่าอาคารเหล่านี้ไม่ถล่ม แต่ก็จะมีอายุการใช้งานที่ต่ำ หรือปัญหาอย่างการรั่วซึมด้วย
แผ่นดินไหวสีฉวน เปิดปมตึกเต้าหู้ในจีน
แผ่นดินไหวในสีฉวน ในเดือนพฤษภาคม เมื่อปี 2008 ที่มีความรุนแรง 7.8 แมกนิจูดนั้น เชื่อว่าสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนอาคารที่พังลงกว่า 6.5 ล้านหลัง และอีก 23 ล้านหลังได้รับความเสียหาย โดยเหตุการณ์นี้เป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมหาศาล โดยเฉพาะในโรงเรียน จนมีการเรียกว่า เหตุทุจริตโรงเรียนในสีฉวน
เพราะเหตุแผ่นดินไหว ทำให้โรงเรียนจำนวนมากถล่มลงมา และมีเด็กนักเรียนเสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท มีรายงานว่ามีนักเรียนเสียชีวิตเกือบ 5,000 คน (มีรายงานว่าตัวเลขจริงอาจมากกว่าทางการสองเท่า) จากการถล่มของโรงเรียน
เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากผู้ปกครองที่สูญเสียลูกๆ เพราะโรงเรียนจำนวนมากถล่มลงทันทีหลังเกิดแผ่นดินไหว แม้กระทั่งโรงเรียนที่เพิ่งสร้างใหม่ ผิดกับตึกอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นตึกเก่า แต่ก็ไม่ถล่มแบบโรงเรียนอื่นๆ ทำให้มีการตรวจสอบพบว่าอาคารของโรงเรียนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นอย่างลวกๆ โครงสร้างไร้คุณภาพ หรือก็คือตึกเต้าหู้ เนื่องจากผู้ก่อสร้างลดทอนค่าใช้จ่ายลงโดยการแทนที่แท่งเหล็กกล้าด้วยเส้นลวดโลหะ ใช้ซีเมนต์คุณภาพต่ำ ลดปริมาณอิฐที่ต้องใช้ลง และไม่มีการตรวจสอบว่าคุณภาพสอดรับกับมาตรฐานที่กำหนดไว้โดยรัฐหรือไม่
เหลียงเหว่ย รองประธานบริหารสถาบันวิจัยและการออกแบบการวางผังเมือง มหาวิทยาลัยชิงหัวเองก็ให้สัมภาษณ์ถึงอาคารเต้าหู้เหล่านี้ว่า หากอาคารที่สร้างขึ้นอย่างเคร่งครัดตามข้อกำหนดของการวางผังเมือง ตึกจะไม่พังทลายในระหว่างเกิดแผ่นดินไหว และอาคารใดก็ตามที่พังทลายในทันที แปลว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการวางผังเมือง การออกแบบไม่เหมาะสมหรือวิศวกรรมที่ไม่เหมาะสม
ภายหลังมีการประกาศจากกระทรวงศึกษา และรัฐบาลท้องถิ่นว่าจะตรวจสอบอาคารที่เกิดแผ่นดินไหว และหากพบการทุจริต หรือการละเลย ผู้ก่อสร้างจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง แต่ถึงอย่างนั้นหลังเกิดเหตุ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรื่องกลับเงียบไป และไม่มีการตรวจสอบจริงจัง แต่หลังเหตุการณ์นี้คำว่า ‘ตึกเต้าหู้’ ก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

สรุปข่าว
เร่งโครงการ ทุจริต ลดต้นทุน ต้นเหตุให้อาคารกลายเป็นตึกเต้าหู้
แม้ว่าแผ่นดินไหวในสีฉวนจะเปิดปมตึกเต้าหู้ไปแล้ว แต่การทุจริต และลดงบประมาณในการสร้างสิ่งก่อสร้าง และปัญหาของตึกเต้าหู้ก็ยังคงมีอยู่ในจีน
ในช่วงปลายทศวรรษ 2010 มีการวิเคราะห์ว่า เกิดตึกเต้าหู้จำนวนมากในช่วงนี้ เพราะตึก และโครงการต่างๆ มักสร้างเพื่อให้ทันฉลองวันครบรอบต่างๆ เช่นวันครบรอบ 90 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2011 หรืออย่างเหตุสะพานถล่มในมณฑลหูนาน ในปี 2007 ที่ตั้งใจเปิดให้ทันครบรอบ 50 ของมณฑลก็มีการเร่งสร้าง จนเกิดอุบัติเหตุ และมีผู้เสียชีวิตถึง 64 ราย
นอกจากการเร่งสร้างแล้ว การทุจริตก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ โครงการในจีนหลายแห่งพบว่ามีการทุจริตจากเบื้องบน ทำให้เงินทุนสำหรับวัสดุคุณภาพเหล่าน้อยลง ทั้งโครงการต่างๆ มักได้รับอนุมัติให้กับบริษัทที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองมากกว่าคุณสมบัติจริงๆ
ในเดือนมกราคม ปี 2010 สำนักงานอัยการเทศบาลกรุงปักกิ่งเปิดเผยว่า คดีการติดสินบนและการทุจริตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการพัฒนาเมืองและการเลือกตั้งในชนบท ทั้งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2011 คณะกรรมการกลางตรวจสอบวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์ยังประกาศว่า มีเจ้าหน้าที่ 6,800 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้วย
เหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่ถูกมองว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับตึกเต้าหู้ก็ยังคงมีเรื่อยมา ได้แก่เหตุหลังคาห้องโถงกีฬาของโรงเรียนมัธยมเฟิงหัว มณฑลเจ้อเจียง พังถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บอีกหลายคน จากการใช้ วัสดุและวิธีการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเหตุโรงแรมในฮาร์บินถล่ม ในปี 2016 ขณะก่อสรา้ง ทำให้ห้คนงานเสียชีวิต 10 คน ซึ่งพบว่าช้วัสดุที่ไม่เพียงพอและไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัย
เมื่อวิกฤตตึกเต้าหู้จากจีน มาถึงไทย
จากเหตุการตึกสำนักงานตรวจการแผ่นดิน ที่ถล่มลงทันทีหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งพบว่า มีบริษัทผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างคือ บริษัทร่วมทุน บริษัทอิตาเลียน-ไทย ดีเวปลอปเมนท์กับ ไชน่า เรลเวย์ 10 เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจากประเทศจีน และปัจจุบันมีการพบพิรุธหลายอย่างในการดำเนินงาน ทำให้ประเด็นเรื่องการก่อสร้าง คุณภาพโครงสร้างสิ่งปลูกสร้างในไทย ถูกพูดถึง และเป็นที่สนใจ
ทั้งยังมีการมองว่า ตึกเต้าหู้เหล่านี้ อาจจะเกิดวิกฤตในไทยขึ้นได้เช่นกันหลังเหตุการณ์นี้ โดยตอนนี้มีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของเหล็กนำเข้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ไปถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีคนจีนถือหุ้น ซึ่งจดทะเบียนในไทยช่วงปีหลังมากขึ้นถึง 586 บริษัท
ซึ่งหากไม่มีการตรวจสอบ และมีโครงการที่ไม่ได้คุณภาพมากขึ้น ประเทศไทยอาจเสี่ยงมีโครงสร้าง และสิ่งปลูกสร้างแบบกากเต้าหู้ เหมือนที่ยุคนึงจีนเคยเผชิญ และส่งผลถึงชีวิตของประชาชนมาแล้ว
ที่มาข้อมูล : TNN Online รวบรวม
ที่มารูปภาพ : AFP

กรุณพร เชษฐพยัคฆ์