
การวัดขนาดแผ่นดินไหว คือ การประเมินพลังงานที่ปลดปล่อยออกมา จากการแตกร้าวของรอยเลื่อน แอมพลิจูดการสั่น และระยะเวลาการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน ที่เครื่องตรวจจับแรงสั่นสะเทือนบันทึกได้
ขนาดของแผ่นดินไหว ยิ่งสูงก็ยิ่งรุนแรง หากเกิน 6 ก็คือสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารเสียหาย พังทลายได้ หากเกิน 7 ขึ้นไป เหมือนที่เกิดกับเมียนมาเมื่อ 28 มี.ค. หมายถึงการสั่นไหวร้ายแรง สร้างความเสียหายได้มหาศาล

สรุปข่าว
นักวิทยาศาสตร์จะนิยมใช้การวัดขนาดแบบโมเมนต์ ที่ประเมินขนาดแผ่นดินไหวโดยไม่ขึ้นกับชนิดของเครื่องตรวจวัด โดยวิเคราะห์จากระยะการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน พื้นที่การเลื่อนตัว และค่าสัมประสิทธิ์ความแข็งของหินในพื้นที่
แต่นั่นคือการวัดพลังงานที่ปลดปล่อยออกมา เวลาเกิดแผ่นดินไหว จะต้องวัด ความรุนแรงของแผ่นดินไหวด้วย ซึ่งเป็นดัชนีผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนต่อคน สิ่งของ อาคาร และสิ่งแวดล้อมนั่นเอง โดยจะวัดขนาดความรุนแรงตามเลขโรมัน 1 คือ ไม่รู้สึก แต่ 10 คือรุนแรงมาก
แล้วรอยเลื่อน คืออะไร รอยเลื่อนคือรอยแตกแยกในหิน หินด้านหนึ่งเคลื่อนที่ไปบนหินอีกด้านหนึ่ง ถ้าพูดถึงแผ่นดินไหว เราก็จะพูดถึงรอยเลื่อนขนาดใหญ่ในชั้นเปลือกโลก ยกตัวอย่าง รอยเลื่อนสะกายเป็นต้น
รอยเลื่อนมีการเลื่อนตัว 3 แบบด้วยกัน ตามข้อมูลของมิตรเอิร์ธ
แบบแรก คือ รอยเลื่อนปกติ เกิดจากแรงเค้นดึงที่พยายามทำให้แผ่นเปลือกโลกเกิดการแยกตัวออกจากกัน ทำให้พนังด้านบนเลื่อนลงและผนังด้านล่างเลื่อนขึ้น
หรือไม่ก็จะเป็น รอยเลื่อนย้อน เกิดจากแรงเค้นบีบอัดตรงกันข้ามกับรอยเลื่อนปกติ ชั้นหินหดสั้นลง ผนังด้านบนเลื่อนขึ้นและผนังด้านล่างเลื่อนลง และหนามากขึ้น
แบบที่สอง คือรอยเลื่อนตามแนวระดับ เกิดจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ผ่านกันในแนวราบ จะขวาเข้าหรือซ้ายเข้าก็ได้
แบบที่สาม คือ รอยเลื่อนเฉียง คือ รอยเลื่อนที่มีการเลื่อนตัวผสมทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบในเวลาเดียวกันนั่นเอง
ที่มาข้อมูล : AFP และ มิตรเอิร์ธ
ที่มารูปภาพ : Envato and AFP

กองบรรณาธิการ TNN