ทำความเข้าใจ Honor Killer อนุญาตสังหารเพื่อรักษาเกียรติ เมื่อศักดิ์ศรีมีค่ามากกว่าชีวิตคน

เชื่อหรือไม่ว่าความผิดเพียงเล็กน้อย จากการพูดคุยกับเพื่อนต่างเพศ การแต่งกายไม่เหมาะสมขัดต่อหลักจารีต การเลือกคู่ครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากครอบครัว หรือ แม้แต่การเล่น Tiktok  อาจกลายเป็นชนวนเหตุให้นำไปสู่ความตายจากเงื้อมมือคนในครอบครัวได้ หากการกระทำเหล่านั้นซึ่งแม้จะเป็นเรื่องธรรมดาของโลกเสรี แต่กลับเป็นความผิดมหันต์ที่ถูกมองว่าทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียเกียรติยศ และ ศักดิ์ศรี  

Honor Killing  คืออะไร?

Honor Killing หรือ การสังหารเพื่อรักษาเกียรติ ปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความรุนแรงทางวัฒนธรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า "เกียรติ" ของครอบครัวหรือชุมชนสามารถเสื่อมเสียลงได้จากพฤติกรรมของสตรีในครอบครัว การกระทำนี้นำไปสู่การตั้งคำถามที่สำคัญว่า "เกียรติแบบใดกันที่สำคัญมากกว่าชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะชีวิตนั้นของคนในครอบครัว”  

ตามรายงานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนปากีสถานที่เป็นอิสระระบุว่าในแต่ละปีมีผู้หญิงมากกว่า 1,000 คนถูกสังหารในปากีสถาน โดยสมาชิกชุมชนหรือครอบครัว เนื่องจากมองว่าพวกเธอเหล่านั้นได้ "ทำลายเกียรติยศ" ของครอบครัว

ทำความเข้าใจ Honor Killer อนุญาตสังหารเพื่อรักษาเกียรติ เมื่อศักดิ์ศรีมีค่ามากกว่าชีวิตคน

สรุปข่าว

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนปากีสถานที่เป็นอิสระระบุว่าในแต่ละปีมีผู้หญิงมากกว่า 1,000 คนถูกสังหารในปากีสถาน โดยสมาชิกชุมชนหรือครอบครัว เนื่องจากมองว่าพวกเธอเหล่านั้นได้ "ทำลายเกียรติยศ" ของครอบครัว

เล่น TikTok ผิดตรงไหน? เมื่อเสรีภาพกลายเป็นชนวนสู่ความตาย

เมื่อต้นปี 2568 มีคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับ Honor Killing ที่น่าสนใจ 2 คดี คดีแรก คือ คดีฆาตกรรมที่พ่อฆ่าลูกสาววัย 15 ของตัวเอง ด้วยความผิดที่ว่าเธอไม่ยอมหยุดเล่น TiKTOK ตามคำขอของผู้เป็นพ่อ 

ผู้ต้องหาในคดีนี้ คือ Anwar ul-Haq ซึ่งตามข้อมูลเขาได้พาครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งลูกสาวของเขาก็เกิดและเติบโตบนแผ่นดินสหรัฐฯ  แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อ “อันวาร์” ได้พาครอบครัวย้ายกลับมายังปากีสถานเมื่อไม่นานมานี้ และ ก่อเหตุ  Honor Killing ในที่สุด 

อีกคดี คือ เรื่องราวของ Maria Bibi หญิงสาววัย 22 ปี ในรัฐปัญจาบ ปากีสถาน ที่ถูกพี่ชายแท้ ๆ จบชีวิต โดยมีบิดาแท้ ๆ และ พี่ชายอีกคนเป็นพยานการฆาตกรรม ด้วยเหตุที่ว่าเธอใช้สมาร์ทโฟนติดต่อพูดคุยกับเพื่อนต่างเพศ 

ที่น่าตกใจคือหลังก่อเหตุไม่มีการดำเนินคดีใดๆ ไม่มีการแจ้งความ ทั้งครอบครัวและคนในชุมชนดำเนินกิจวัตรเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งคลิปการก่อเหตุหลุดออกไปในสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นกระแส และ นำมาสู่การรื้อคดี สอบสวน และ ศาลชั้นต้นเพิ่งมีคำตัดสินประหารชีวิต พ่อและพี่ชายมารีอา เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา   


โศกนาฏกรรมในครอบครัว เมื่อลูกสาวถูกให้ค่าไม่ต่างกับสิ่งของ

ขวัญข้าว คงเดชา นักวิชาการ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า หนึ่งในนักวิชาการผู้ติดตามประเด็น Honor Killing อย่างใกล้ชิดมองว่าในหลายสังคมทั่วโลก "การสังหารเพื่อเกียรติ" หรือ Honor Killing เป็นปรากฏการณ์ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมและค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับความบริสุทธิ์และบทบาทของสตรีภายใต้กรอบศีลธรรมของครอบครัวและชุมชน 

“เมื่อเกียรติยศของตระกูลถูกนำไปผูกกับตัวบุคคล โดยเฉพาะในสตรีนั้นทำให้เกียรติยศขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของสตรีในครอบครัว ผู้หญิงจึงมักกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากคนใกล้ตัวเพียงเพราะถูกมองว่า "ทำให้เสียเกียรติ"  นำมาสู่โศกนาฎกรรมของครอบครัวจำนวนมากที่ลูกสาวตาย ส่วนพ่อหรือพี่ชายก็ต้องติดคุก” ขวัญข้าวกล่าว 

ในมุมมองของขวัญข้าว เชื่อว่ากลไกการลงมืออาจไม่ได้เกิดจากการเสื่อมเสียเกียรติยศทั้งหมด แต่รวมไปถึงสถานะทางสังคมของสตรีในสังคมนั้น ๆ ด้วย เธอเชื่อว่ามุมมองของผู้ชายที่มีต่อหญิงสาว และ ลูกสาว อาจถูกมองว่าเป็นเพียงแค่สิ่งของ ส่วนตัวผู้ชายคือเจ้าของ ซึ่งมีความชอบธรรมในการปฏิบัติอย่างไรก็ได้ต่อสิ่งของ 

“ในเคสของ Maria Bibi ถือเป็น Classic case จะสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าพี่ชายเดินไปก่อเหตุในบริบทที่ทุกคนยังทำกิจวัตรโดยปกติ การลงมือสังหารไม่ต่างกับเรื่องปกติ ขณะที่ชุมชนเองก็มองการกระทำเหล่านี้ในเชิงบวก เพราะการฆ่าภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิด แถมอาจมองเป็นฮีโร่ด้วยซ้ำ เพราะสามารถรักษาเกียรติเอาไว้ได้" นักวิชาการกล่าว 

ดังนั้นครอบครัวอื่น ๆ ก็อาจจะคิดได้ว่าติดคุกก็ไม่เป็นไร เพราะในสายตาชาวบ้านเราคือฮีโร่ ฉะนั้นวงจร Honor Killing จะไม่มีวันหมดไปง่าย ๆ แม้ในปากีสถานจะมีการใช้กฎหมายที่รุนแรงเข้าแก้ปัญหาก็ตาม” ขวัญข้าวกล่าว 

จากปากีสถานถึงไทย: เมื่อศักดิ์ศรีช่วยสร้างความชอบธรรมให้ความรุนแรง

ภายใต้บริบทของสังคมวัฒนธรรมที่ปลูกฝังเรื่องเกียรติ และ สถานะของผู้หญิง ของปากีสถาน และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ และ เอเชียตะวันออก  นั่นทำให้ผู้ชายทำร้ายผู้หญิงโดยไม่รู้สึกผิด ขณะที่สังคมไทยแม้จะไม่มีความรุนแรงเท่ากับกรณี Honor Killing แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีกรอบความคิดในเรื่องการให้ความสำคัญเกียรติยศ ศักดิ์ศรี จนนำมาสู่การใช้ความรุนแรงเช่นกัน 

“ฆ่าได้ หยามไม่ได้” เป็นคำที่ถูกส่งต่อกันมาในสังคมไทย วลีดังกล่าวสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าเรื่องของเกียรติยศสำหรับคนไทยเป็นเรื่องที่เปราะบางเช่นกัน แม้เราจะไม่สามารถจบชีวิตใครได้เพียงเพราะไม่เชื่อฟังคำสั่ง หรือ เพียงแค่เล่น TIKTOK แต่ถ้าคำว่าเกียรติยศถูกแตะต้อง หลาย ๆ คนก็พร้อมจะระเบิดความนรุนแรงออกมาเช่นกัน 

“จะเห็นได้ว่าเรื่องของเกียรติ เป็นเรื่องที่เปราะบาง เมื่อมันเปราะบางก็ถูกปะทุออกมาได้ง่าย ทุกคนเมื่อเผชิญกับความรู้สึกเสียหน้า อับอาย ถูกหมิ่นความเป็นชาย ก็จะมีการตอบโค้อย่างรุนแรง เพื่อกลบความอาย ฉะนั้นในไทยเองให้ความสำคัญกับเรื่องเกียรติจากความซื่อสัตย์ของคู่รัก หากคู่รักไม่ซื่อสัตย์ นอกใจ ก็เหมือนการหมิ่นเกียรติ จึงเห็นในหลายเคสที่มีการใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ในเรื่องดังกล่าว” ขวัญข้าว อธิบาย 

Honor Killing อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเป็นปัญหาที่สะท้อนถึงโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียม และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทั้งในระดับกฎหมาย สังคม และวัฒนธรรม เพื่อให้แน่ใจว่า "เกียรติ" ไม่ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการลิดรอนสิทธิและชีวิตของสตรีอีกต่อไป ซึ่งนอกจากปัญหาในปัจจุบันนักวิชาการผู้ติดตามกรณี Honor Killing ยังเป็นห่วง คือ การเผยแพร่แนวคิดความเกลียดชัง และ การใช้ความรุนแรงต่อเพศตรงข้ามที่แพร่หลาย ใน Social Media ซึ่งหากไม่มีการคัดกรองให้กับเยาวชนอาจส่งผลต่อการปลูกฝังทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง นำไปสู่สังคมนิยมใช้ความรุนแรง จนอาจจะเกิดบริบทในสังคมใหม่ที่รุนแรงและอันตรายกว่า Honor Killing ก็เป็นได้ 

avatar

วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์