
วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Euronews และสื่อต่างประเทศหลายแห่งนำเสนอข่าว ศาสตราจารย์คอร์ราโด มาลังกา (Corrado Malanga) จากมหาวิทยาลัยปิซา ประเทศอิตาลี พร้อมด้วยทีมวิจัยค้นพบโครงสร้างลักษณะคล้ายเสาขนาดใหญ่จำนวน 8 ต้น ใต้พีระมิดคาเฟร (Khafre Pyramid) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มพีระมิดแห่งกิซา ประเทศอียิปต์
โดยข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า การค้นพบดังกล่าวอ้างอิงจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายเรดาร์จากดาวเทียม โดยเสาทั้ง 8 ต้นที่ค้นพบนั้น มีบันไดวนเชื่อมต่อกัน ลักษณะคล้ายช่องทางส่งน้ำ และมีความลึกจากพื้นผิวมากกว่า 2,000 ฟุต หรือประมาณ 610 เมตร

สรุปข่าว
อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิชาการ โดยศาสตราจารย์ลอว์เรนซ์ โคนเยอร์ส (Lawrence Conyers) ผู้เชี่ยวชาญด้านเรดาร์จากมหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้แสดงความเห็นว่า “ข้อกล่าวอ้างนี้เป็นการพูดเกินจริงอย่างมาก” และชี้ว่าเทคโนโลยีเรดาร์จากดาวเทียม ซึ่งมีลักษณะการทำงานคล้ายการทำงานของโซนาร์ในมหาสมุทรนั้น ไม่สามารถตรวจจับโครงสร้างที่อยู่ลึกในระดับดังกล่าวได้จริง
สำหรับเทคโนโลยีเรดาร์จากดาวเทียมที่ถูกกล่าวอ้างนั้นยังไม่แน่ชัดว่าทีมงานของศาสตราจารย์คอร์ราโด มาลังกา (Corrado Malanga) ใช้ระบบใดระหว่างเทคโนโลยีเรดาร์จากดาวเทียม (SAR) ซึ่งตรวจพบได้เพียงระดับพื้นผิวดิน และเรดาร์เจาะพื้น (Ground Penetrating Radar - GPR) ซึ่งตรวจสอบได้ที่ระดับความลึกไม่เกิน 1-3 กิโลเมตร
โดยใช้หลักการทำงานของส่งคลื่นเรดาร์ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ส่งลงไปยังพื้นผิวโลก คลื่นจะสะท้อนกลับมายังเซนเซอร์บนดาวเทียม หลังจากกระทบกับพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ภูเขา ป่า น้ำ หรือสิ่งก่อสร้าง ดาวเทียมจะใช้การวัดเวลาการเดินทางของคลื่น เพื่อคำนวณระยะเวลาที่คลื่นไป-กลับ จะสามารถวัดระยะทางและรูปร่างพื้นผิวได้
แม้ศาสตราจารย์โคนเยอร์สจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องเครือข่ายโครงสร้างขนาดใหญ่ใต้พีระมิด แต่อย่างไรก็ดี เขาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมีโครงสร้างขนาดเล็กอยู่ใต้พีระมิด และระบุว่า “ในวัฒนธรรมมายันและอารยธรรมโบราณของอเมริกาใต้ มักมีการสร้างพีระมิดเหนือโพรงหรือถ้ำที่มีความสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนา”
จนถึงขณะนี้ ผลการค้นพบของศาสตราจารย์มาลังกายังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่แท้จริงตามหลักวิชาการ และการมีอยู่ของ "เสาปริศนา" ใต้พีระมิดคาเฟร จึงยังคงเป็นเรื่องที่รอการพิสูจน์ต่อไป
ที่มาข้อมูล : https://www.euronews.com/culture/2025/03/26/going-underground-experts-clash-over-hidden-city-beneath-egypt-pyramids
ที่มารูปภาพ : Ricardo Liberato - All Gizah Pyramids

พีรพรรธน์ เชื้อจีน