
วันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เพจ Curiosity Channel คนช่างสงสัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานการออกแบบอาคารสูงสมัยใหม่เพื่อรับมือแผ่นดินไหว โดยพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา มาตรฐานการออกแบบอาคารรับแรงแผ่นดินไหวในประเทศไทยได้ปรับแนวทางใหม่ โดยกำหนดให้วิศวกรต้องออกแบบอาคารให้มี “ความเหนียว” มากกว่าความแข็ง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย

สรุปข่าว
ความแตกต่างระหว่าง “อาคารแข็ง” กับ “อาคารเหนียว”
โดยเพจ Curiosity Channel คนช่างสงสัย ได้อธิบายเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ คือ “ความแข็ง” มักมาพร้อมกับ “ความเปราะ” นั่นหมายความว่า เมื่อโครงสร้างแข็งเกินไป หากเกิดความเสียหายขึ้นจะเป็นการเสียหายแบบฉับพลัน ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่นเดียวกับเวลาหักดินสอ มันจะหักทันที ไม่ค่อยมีอาการร้าวให้เห็นก่อนในทางวิศวกรรมเรียกว่า “วิบัติแบบฉับพลัน” ซึ่งอันตรายมาก เพราะผู้อยู่อาศัยจะไม่มีโอกาสหลบหนีได้ทัน
ในทางตรงกันข้าม อาคารที่ถูกออกแบบให้มีความเหนียวตามมาตรฐานปัจจุบันจะสามารถ “ยืดหยุ่น” ได้มากกว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โครงสร้างอาจโยกหรือแอ่นตัวได้โดยไม่พังทันที เปรียบได้กับไม้บรรทัดพลาสติกที่สามารถบิดงอได้ก่อนจะหัก การบิดตัวนี้จะก่อให้เกิด “รอยร้าว” ตามจุดต่าง ๆ ของอาคาร โดยเฉพาะที่ผนัง ซึ่งรอยร้าวเหล่านี้ไม่ใช่ความล้มเหลวของโครงสร้าง แต่เป็น “สัญญาณเตือนภัย” ให้ผู้คนภายในรีบอพยพออกมา
ตึกรอยร้าวไม่ใช่สิ่งเลวร้ายแต่ไม่ควรประมาท
ก่อนหน้านี้มีความเข้าใจผิดว่ารอยร้าวของตึกสูง คือ ความอ่อนแอของอาคาร แท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะรอยร้าวนั้นเป็นผลจากการออกแบบให้โครงสร้างสามารถ “สลายพลังงานแผ่นดินไหว” ผ่านการเคลื่อนไหวของตัวอาคาร เมื่อโครงสร้างตึกโยกได้ก็เท่ากับว่าพลังงานถูกดูดซับและกระจายออกไป ไม่สะสมอยู่ในจุดเดียวเหมือนอาคารแบบแข็งเกร็ง ซึ่งอาจพังลงโดยไม่มีการเตือนใด ๆ โดยให้นึกภาพต้นมะพร้าวที่โยกตามลม เทียบกับต้นไม้แข็ง ๆ ที่อาจหักในพริบตา)
ดังนั้น หากหลังแผ่นดินไหวอาคารมีรอยร้าวให้เห็น นั่นคือสิ่งที่ "ถูกต้อง" และ "ปลอดภัย" ตามหลักการออกแบบสมัยใหม่ เพราะอาคารได้ทำหน้าที่ของมันในการแจ้งเตือนและปกป้องชีวิต
ในขณะที่อาคารที่ไม่มีรอยร้าวก็ไม่ได้หมายความว่าอาคารไม่แข็งแรง แต่อาจแปลได้หลายอย่าง เช่น อาคารแข็งแรงมาก จนยังไม่ถึงจุดที่จะเริ่มร้าวตามที่ออกแบบไว้ อาคารนั้นไม่ได้ออกแบบตามมาตรฐานใหม่ที่เน้นความเหนียว
อย่างไรก็ตาม เพจ Curiosity Channel คนช่างสงสัย ได้ให้ข้อมูลสรุปเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "รอยร้าวของตึก" คือ ความเสียหาย แม้จะยังไม่ถึงขั้นพังทลายก็ไม่ควรกลับเข้าไปอยู่อาศัยทันที จำเป็นต้องให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมิน ตรวจสอบโดยละเอียด การมีรอยร้าว คือ สัญญาณว่าโครงสร้างได้ทำหน้าที่ในการปกป้องชีวิตแล้ว แต่หากปล่อยไว้นานหรือร้าวเพิ่มขึ้น อันตรายก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
ที่มาข้อมูล : กรมโยธาธิการและผังเมือง
ที่มารูปภาพ : กรมโยธาธิการและผังเมือง

พีรพรรธน์ เชื้อจีน