
ทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีนและนิวซีแลนด์ เสร็จสิ้นภารกิจสำรวจร่องลึกปุยเซกูร์ (Puysegur Trench) โดยใช้เรือดำน้ำที่มีคนควบคุมเป็นเวลา 80 วัน เพื่อนำตัวอย่างจากร่องลึกในมหาสมุทรกลับมาศึกษา และนี่ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์ได้เดินทางไปถึงจุดที่ลึกที่สุด ของร่องลึกแห่งนี้อีกด้วย

สรุปข่าว
การเดินทางสำรวจใต้น้ำนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย โครงการสำรวจและดำน้ำร่องลึกทั่วโลก (Global Trench Exploration and Diving program) ซึ่งริเริ่มโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (CAS) ในสาขาของสถาบันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมทะเลลึก (IDSSE) ซึ่งได้จับมือกับสถาบันวิจัยน้ำและบรรยากาศแห่งชาติ จากประเทศนิวซีแลนด์ (NIWA)
สำหรับร่องลึกปุยเซกูร์ (Puysegur Trench) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลแทสมัน (Tasman Sea) นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ เป็นโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่สำคัญ บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกออสเตรเลียและแปซิฟิก โดยจุดที่ลึกที่สุดคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 6,208 เมตร
ภารกิจสำรวจร่องลึกนี้ มีทีมสำรวจจากหลากหลายชาติเข้าร่วม โดยมีทีมนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 68 คนจาก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เดนมาร์ก เยอรมนี ฝรั่งเศส บราซิล และอินเดีย แม้สภาพการสำรวจใต้ท้องทะเลจะท้าทาย แต่ทีมงานก็สามารถปฏิบัติภารกิจดำน้ำลึกได้สำเร็จถึง 32 ครั้ง โดยค้นพบสิ่งมีชีวิตทางทะเลและลักษณะทางธรณีวิทยาใหม่ ๆ และเก็บตัวอย่างทางชีวภาพจากทะเลลึก เช่น ตัวอย่างหินต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการศึกษากลไกทางธรณีวิทยา
ซึ่งจากการระบุเบื้องต้นโดยนักชีววิทยาในพื้นที่ พบว่าตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตที่เก็บมาได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง อาจเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่จากใต้ทะเลลึก ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติม นอกจากนี้ทีมวิจัยยังค้นพบระบบนิเวศน้ำพุเย็น (Cold seep ecosystem) ที่ลึกที่สุดในซีกโลกใต้ ภายในที่แห่งนี้ด้วย
ภารกิจนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจีนในด้านเทคโนโลยีเรือดำน้ำ ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับทีมวิจัย และอาจจะนำไปสู่การใช้งานสำรวจร่องลึกอื่น ๆ และแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเลลึกต่อไป
ข้อมูลจาก
ที่มาข้อมูล : Reuters, China Central Television (CCTV), Other
ที่มารูปภาพ : Reuters, China Central Television (CCTV), Other, NIWA New Zealand

อารียา ใจสุข