

สรุปข่าว
วันที่ 11 มีนาคม 2024 มีการประกาศผลรางวัลออสการ์ 2024 (Oscars 2024) ซึ่งภาพยนตร์ออปเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) ก็โดดเด่นจนสามารถคว้ารางวัลไปได้ถึง 7 รางวัล รวมถึงรางวัลใหญ่อย่าง “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” ด้วย ซึ่งก็ถือว่าตรงตามที่หลาย ๆ คนคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
แต่กว่าจะออกมาเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมและสร้างสรรค์ จนกระทั่งส่งตรงไปยังจอเงิน มันล้วนมีเบื้องลึกเบื้องหลัง มีเทคนิคและเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นตัวขับเคลื่อนด้วย ไม่ได้หมายถึงเพียงภาพยนตร์ออปเพนไฮเมอร์เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงทั้งวงการภาพยนตร์เลย และแน่นอนว่าทางสถาบันแห่งศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (AMPAS) ผู้จัดประกวดออสการ์ ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้มีมอบรางวัลพิเศษขึ้นมา คือรางวัล Scientific and Technical Awards เพื่อมอบเป็นเกียรติให้แก่การค้นพบและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญและยั่งยืนต่อภาพยนตร์
รางวัลนี้ประกาศและมอบรางวัลไปก่อนหน้าแล้วเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2024 ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ ไม่ได้หมายถึงเทคนิคที่เพิ่งคิดค้นมาในปี 2023 - 2024 เท่านั้น แต่เป็นผลงานที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีคุณค่าต่อกระบวนการสร้างภาพยนตร์ เอาล่ะ สำหรับปี 2024 นี้ มีใครและผลงานอะไรที่ได้รับรางวัลบ้าง มาดูกัน
รางวัลวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์
ชาร์ลส์ คิว. โรบินสัน (Charles Q. Robinson) นิโคลัส ซิงกอส (Nicolas Tsingos) คริสตอฟ ชาบาน (Christophe Chabanne) มาร์ก วินตัน (Mark Vinton) และทีมวิศวกรซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ของห้องแล็บ ดอลบี (Dolby) ของบริษัทซีเนมาติก ออดิโอ กรุ๊ป (Cinema Audio Group) สำหรับการสร้างระบบเสียงดอลบี จนกลายมาเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รวมถึงนำมาใช้ในอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วยอย่าง สมาร์ตโฟน แล็ปท็อป
สตีฟ รีด (Steve Read) และแบร์รี ซิลเวอรสเตน (Barry Silverstein) สำหรับการมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาเครื่องฉายเลเซอร์ไอแม็ก ฟริซึมเลส (IMAX Prismless) ด้วยการใช้ระบบกระจกสะท้อนแสงแบบใหม่ สามารถขจัดปริซึมออกจากเส้นทางแสงเลเซอร์เพื่อสร้างความสว่างและคอนทราสต์สูง ทำให้ได้ภาพที่สวยคมชัด ในโรงภาพยนตร์ IMAX
ปีเตอร์ แจนส์เซนส์ (Peter Janssens) โกรัน สตอยเมโนวิค (Goran Stojmenovik) และโวลเตอร์ ดีอูสเตอร์ลิงค์ (Wouter D’Oosterlinck) สำหรับการออกแบบและพัฒนา Barco RGB Laser Projector ทำให้เกิดช่องภาพที่สม่ำเสมอปราศจากการสั่นไหว พร้อมคอนทราสต์และความสว่างที่ดีขึ้นในการฉายภาพยนตร์
ไมเคิล เพอร์กินส์ (Michael Perkins) เกอร์วิน ดัมเบิร์ก (Gerwin Damberg) เทรเวอร์ ดาวีส์ (Trevor Davies) และมาร์ติน เจ ริชาร์ด (Martin J. Richards) สำหรับการออกแบบและพัฒนาระบบฉายภาพยนตร์ Christie E3LH Dolby Vision ใช้เทคนิคการมอดูเลตคู่แบบใหม่ที่ใช้ชิป DLP แบบเรียงซ้อนพร้อมกับเส้นทางแสงเลเซอร์ ทำให้สามารถนำเสนอช่วงไดนามิกสูงในการฉายภาพยนตร์
เคน มูเซ็ต (Ken Museth) ปีเตอร์ คุกก้า (Peter Cucka) และมิไฮ อัลเดน (Mihai Aldén) สำหรับการสร้าง OpenVDB แพลตฟอร์มการจัดการข้อมูลที่เป็นมาตรฐานในการฉายเอฟเฟกต์เชิงปริมาตรที่ซับซ้อน เช่น น้ำ ไฟ และควัน ในภาพยนตร์
เจเดน โอ (Jaden Oh) สำหรับแนวคิดและพัฒนาระบบการสร้างเสื้อผ้าของ Marvelous Designer นำเสนอแนวทางการสร้างเครื่องแต่งกายแบบดิจิทัลที่อิงตามแพตเทิร์น โดยผสมผสานการออกแบบและการแสดงภาพเข้าด้วยกัน
เอฟ. เซบาสเตียน กราสเซีย (F. Sebastian Grassia) อเล็กซ์ มอร์ (Alex Mohr) ซันยา บุนยาเทรา (Sunya Boonyatera) เบรตต์ เลวิน (Brett Levin) และ เจเรมี คาวล์ส (Jeremy Cowles) สำหรับการออกแบบเฟรมเวิร์ก Universal Scene Description (USD) ของพิกซาร์ (Pixar) ทำหน้าที่เป็นโซลูชันที่ครอบคลุมสำหรับการจัดการและสร้างฉาก 3 มิติในการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน
รางวัลความสำเร็จด้านเทคนิค
บิล เบค (Bill Beck) สำหรับการบุกเบิกการใช้เลเซอร์เซมิคอนดักเตอร์สำหรับระบบฉายภาพด้วยเลเซอร์ ขณะที่เขาทำงานอยู่ที่บริษัทเลเซอร์ ไลท์ เอจินส์ (Laser Light Engines) ได้สนับสนุนและให้ความรู้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกี่ยวกับเลเซอร์ เซมิคอนดักเตอร์ จนมีส่วนทำให้เกิดการฉายภาพยนตร์ด้วยเลเซอร์
เกรกอรี ที ไนเวน (Gregory T. Niven) สำหรับการบุกเบิกการใช้เลเซอร์ไดโอดสำหรับระบบการฉายภาพด้วยเลเซอร์ เขาได้สาธิตและปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ให้บริษัทโนวาลักซ์ (Novalux) และเนคเซล (Necsel) ซึ่งทั้ง 2 เป็นบริษัทผลิตเทคโนโลยีเลเซอร์ จนนำไปสู่เทคโนโลยีการฉายภาพยนตร์ด้วยเลเซอร์
โยชิทากะ นาคัตสึ (Yoshitaka Nakatsu) โยจิ นากาโอะ (Yoji Nagao) สึโยชิ ฮิราโอะ (Tsuyoshi Hirao) โมโมโนริ โมริซูมิ (Tomonori Morizumi) และคาซามุ โคซูรุ (Kazuma Kozuru) สำหรับการพัฒนาเลเซอร์ไดโอดสำหรับระบบระบบการฉายภาพด้วยเลเซอร์ พวกเขาร่วมมือกัน ขณะทำงานที่บริษัทผู้นำอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในญี่ปุ่นอย่างนิเชีย คอร์ปอเรชัน (Nichia Corporation) นำไปสู่การพัฒนาและการนำโมดูลเลเซอร์สีน้ำเงินและสีเขียวมาใช้ มันสามารถสร้างความยาวคลื่นและระดับพลังงานที่เหมาะสมตามความต้องการของตลาดโรงภาพยนตร์
จอห์น เฟรเซอร์ (John Frazier) สำหรับแนวคิด Blind Driver Roof Pod ซึ่งเป็นแผงหลังคาช่วยเพิ่มความปลอดภัย ความเร็ว และระยะในการขับขี่แบบผาดโผน ทำให้สามารถวางตำแหน่งกล้องเก็บฟุตเทจขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ได้ นวัตกรรมนี้นำไปใช้อย่างรวดเร็วทั่วทั้งอุตสาหกรรม รวมถึงมอบรางวัลให้อาร์โนลด์ ปีเตอร์สัน (Arnold Peterson) และเอเลีย พี. โปปอฟ (Elia P. Popov) ที่กำลังออกแบบและพัฒนานวัตกรรมนี้เพิ่มเติม
จอน จี. เบลเยอ (Jon G. Belyeu) สำหรับการออกแบบและพัฒนาเครื่องตัดสายเคเบิลงานภาพยนตร์ (Movie Works Cable Cutter devices) ซึ่งนำมาใช้ในการปลดสายเคเบิลแบบแขวน ให้ความปลอดภัย แม่นยำ เชื่อถือได้ มันถูกนำมาใช้ในวงการภาพยนตร์แล้วกว่า 3 ทศวรรษ
เจมส์ เอ็กเกิลตัน (James Eggleton) และเดลวิน ฮอลรอยด์ (Delwyn Holroyd) สำหรับการบูรณาการอัลกอริธึมที่เรียกว่า High-Density Encoding (HDE) ซึ่งทำให้สามารถใช้งานไฟล์ RAW จากกล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ลดพื้นที่การจัดเก็บลง
เจฟฟ์ เลท (Jeff Lait) แดน เบลีย์ (Dan Bailey) และ นิค อาฟรามูซิส (Nick Avramoussis) สำหรับการพัฒนาชุดฟีเจอร์ OpenVDB ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการแสดงและจัดการข้อมูลเชิงปริมาตรสำหรับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และได้พัฒนาต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านวิชวลเอฟเฟ็กต์
โอลิเวอร์ คาสเทิล (Oliver Castle) และมาร์คัส ชู (Marcus Schoo) สำหรับการพัฒนาเครื่องมือสร้างเนื้อหาดิจิทัลชื่อแอตลาส (Atlas) ซึ่งทำให้สามารถจัดการเนื้อหาหลายรายการเข้าด้วยกันได้ รวมไปถึงการสร้างเนื้อหาเสมือนจริง และระบบแสงสว่างในภาพยนตร์
ลูคัส มิลเลอร์ (Lucas Miller), คริสโตเฟอร์ โจน ฮอร์วาธ (Christopher Jon Horvath) สตีฟ ลาเวียเทส (Steve LaVietes) และ โจ อาร์เดนท์ (Joe Ardent) สำหรับการสร้างระบบ Alembic Caching and Interchange ซึ่งเป็นอัลกอริธึมการจัดการข้อมูล นำไปใช้ในสตูดิโอผู้ผลิตต่าง ๆ
และนี่ก็คือคนและผลงานที่ได้รับรางวัล Scientific and Technical Awards ประจำปี 2024 จะเห็นได้ว่ามีบางนวัตกรรมที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการภาพยนตร์ แต่ได้นำมาใช้ในวงกว้างมากขึ้น อย่างเช่นระบบเสียง Dolby ในสมาร์ตโฟนของหลายคนก็ใช้ระบบนี้อยู่ แต่แม้จะไม่ใช่นวัตกรรมที่มองเห็นเด่นชัด แต่มันก็สนับสนุนวงการภาพยนตร์อยู่เบื้องหลัง ทำให้เราดูภาพยนตร์ได้ดีขึ้น หรือทำให้การสร้างภาพยนตร์สมบูรณ์แบบมากขึ้น หากไม่มีนวัตกรรมเหล่านี้ ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ในก็อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่เราเห็นกันก็ได้
ที่มาข้อมูล Deadline, GFXspeak
ที่มารูปภาพ Oscars
ที่มาข้อมูล : -