‘ประกันสังคมดรามา’ สรุปประเด็นสำคัญ เหตุใด? จึงกลายเป็นกระแสร้อน

ประเด็นร้อนล่าสุดเกี่ยวกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ หลัง น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม. พรรคประชาชน ตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของ สปส. แม้ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะออกมาชี้แจงแล้วก็ตาม แต่ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมในหลายประเด็น โดยเฉพาะการบริหารเงินกองทุน และ สิทธิผู้ประกันตนที่ด้อย กว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

‘ประกันสังคมดรามา’  สรุปประเด็นสำคัญ เหตุใด? จึงกลายเป็นกระแสร้อน

สรุปข่าว

ประกันสังคมดรามา ร้อนแรงหลังโซเชียล ตั้งคำถามเรื่อง งบประมาณ และ สิทธิผู้ประกันตน ที่ด้อยกว่าบัตรทอง และ ประเด็นสำคัญคือ โครงสร้างบอร์ดแพทย์, โครงการ Web App 850 ล้านบาท, และ ความโปร่งใสของงบประมาณย้อนหลัง 5 ปี

- ประเด็นแรก สิทธิประกันสังคม จ่ายแพงแต่ทำไมได้สิทธิแย่กว่าบัตรทอง?

หนึ่งในประเด็นที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้น มาจากการที่ “สิทธิประกันสังคม” ซึ่งผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน กลับมีคุณภาพการรักษาที่ไม่ดีเท่าสิทธิบัตรทองที่ได้รับฟรี น.ส.รักชนก ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า ปัญหาหลักอาจมาจากโครงสร้างการบริหารของ สปส. ซึ่งมีทั้ง "บอร์ดใหญ่" และ "บอร์ดเล็ก" โดยบอร์ดใหญ่มีตัวแทนจากสามฝ่ายและบางส่วนมาจากการเลือกตั้ง และ บอร์ดเล็ก มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หนึ่งในนั้นคือ "บอร์ดแพทย์" ที่มีอำนาจกำหนดสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน

ปัญหาที่ถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประกันสังคมถูกแยกย่อย ดังนี้

- บอร์ดแพทย์เป็นผู้กำหนดการใช้เงินกองทุน 70,000 ล้านบาทต่อปี ว่าจะรักษาโรคอะไรได้บ้าง และใช้วงเงินเท่าไร
- เหตุใด สิทธิการรักษาล้าหลังกว่าบัตรทอง เช่น ทำฟันได้เพียง 900 บาท และยังไม่สามารถรับยาจากร้านขายยาใกล้บ้านได้
- การแต่งตั้งบอร์ดแพทย์อาจไม่มีความโปร่งใส  เพราะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อสมาชิก
- มีการเดินทางไปดูงานทุกปี แม้แต่สถาบันการเงิน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์

โดยข้อกังขาดังกล่าวได้มีการเรียกร้องให้ เปิดเผยรายชื่อบอร์ดแพทย์ย้อนหลัง และ  ปรับโครงสร้างให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมมากขึ้น

ขณะที่ประเด็นต่อของประกันสังคมที่กำลังถูกวิพากษณ์วิจารณ์นั้นคือเรื่องของ Web App 850 ล้านบาท ของประกันสังคม

อีกหนึ่งข้อกังขา คือ โครงการพัฒนา Web Application เพื่อบริหารจัดการข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ที่มีงบประมาณสูงถึง 850 ล้านบาท โดยข้อสงสัยที่ยังเป็นข้อกังขา ได้แก่

- บริษัทที่เข้าร่วมประมูล 2 แห่ง เสนอราคาต่างกันเพียง 300,000 บาท (848,888,000 และ 848,500,000 บาท)
- โครงการล่าช้ากว่า 193 วัน ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่
- มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าเมนเฟรม 84 ล้านบาทต่อเดือน แม้ว่าระบบยังใช้งานไม่ได้
- ไม่มีการปรับโทษหรือค่าปรับ แม้โครงการส่งมอบล่าช้า

ในกรณีนี้มีข้อเรียกร้องว่า อยากให้ กระทรวงแรงงานต้องตอบคำถามเรื่องความโปร่งใสของโครงการ และ ตรวจสอบบริษัทที่เข้าร่วมประมูล

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึง คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ เคยขอข้อมูลการพิจารณางบประมาณของ สปส. ย้อนหลัง 5 ปี แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยอ้างว่ามีรายชื่อบุคคลอยู่ในเอกสาร ซึ่งในกรณีนี้ ต้องมีการตั้งข้อสงสัยว่าควร ตรวจสอบว่างบประมาณถูกจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกันตนหรือไม่

จากประเด็นทั้งหมดเกิดเป็นกระแสในโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในการบริหารกองทุนที่มีมูลค่ามหาศาล  สำหรับแนวทางแก้ไขนั้นมี ผู้ประกันตนต้องการให้  เปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณ และโครงสร้างบอร์ดบริหาร , มีการปรับปรุงสิทธิ ท้ายสุดคือการ ตรวจสอบโครงการใช้งบประมาณสูง เพื่อให้มีการบริหารเงินในส่วนของลูกจ้างที่ต้องเสียทุกเดือนให้มีประสิทธิภาพ

ที่มาข้อมูล : รวบรวมโดย TNN

ที่มารูปภาพ : TNN