เด็กติดเกม...อย่ามองเป็นแค่ปัญหาเล็กๆ

เด็กติดเกม...อย่ามองเป็นแค่ปัญหาเล็กๆ

สรุปข่าว

ประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ เมื่อมีการเผยแพร่คลิปเด็กติดเกมมีภาวะทางอารมณ์รุนแรง หลังเล่นเกมแพ้ เกิดอารมณ์ฉุนเฉียว ทุบทำลายคอมพิวเตอร์ เมื่อผู้ปกครองมาห้ามปรามกลับคว้ามีดจะทำร้ายร่างกายแม่และอาม่า ประเด็นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก และมีเฟซบุ๊กบางเพจได้นำคลิปไปเผยแพร่ เป็นอุทาหรณ์แก่สังคม 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเด็กติดเกมในคลิป มีการไลฟ์เฟซบุ๊ก ระบุว่าแม่กับอาม่ายังปลอดภัย พร้อมกราบขอโทษพฤติกรรมที่ทำใส่แม่และอาม่า และยอมรับผิดทุกอย่าง ทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เกิดโมโหจากการเล่นเกม ขณะที่แม่ก็ให้อภัย แต่ก็ตักเตือนว่า หากมีเหตุเช่นนี้อีกจะจัดการขั้นเด็ดขาด

กรณีดังกล่าวกลายเป็นอุทาหรณ์ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลลูกหลาน ขณะเดียวกันก็มีการรณรงค์ให้งดแชร์เผยแพร่คลิปเหตุการณ์ เนื่องจากกระทบต่อสิทธิเยาวชน และอาจจะเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมไม่เหมาะสม

WHO จัด "การติดเกม" เป็นอาการป่วยทางจิต

องค์การอนามัยโลก ระบุอย่างเป็นทางการว่า การติดเกม หรือ Gaming disorder เป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในประเภทเดียวกับการติดสารเสพติด หรือพฤติกรรมเสพติดต่างๆ รวมถึง การติดการพนัน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นไป

WHO ระบุว่า อาการติดเกม หมายถึง การเล่นเกมวนเวียนซ้ำๆ ซึ่งนำไปสู่ความบกพร่องในการควบคุมพฤติกรรมนั้นๆ และให้ความสำคัญต่อการเล่นเกมเป็นอันดับแรกเหนือความสนใจอื่นๆ หรือกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน จนเกิดผลเสียต่างๆ ตามมา


E-sport เป็นกีฬา ตัวเลขเด็กติดเกมเพิ่มขึ้น 7 เท่า!

ส่วนสถานการณ์เด็กติดเกมในประเทศไทยในปีนี้  นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ระบุว่า หลังประเทศไทยมีการประกาศให้ E-Sport เป็นกีฬาประเภทหนึ่งแล้ว พบว่า ตัวเลขของเด็กติดเกมที่เข้ารับคำปรึกษากับกรมสุขภาพจิตมีเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า จึงมองว่าก่อนจะประกาศให้ E-sport เป็นกีฬา ควรมีการเตรียมความพร้อมและมีมาตรการที่ชัดเจนมากกว่านี้ อย่างต่างประเทศมีการบังคับให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องลงทะเบียนก่อนเล่นเกม และไม่ให้มีการแข่งขันเกมภายในโรงเรียน รวมถึงมีการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือภายในโรงเรียน

ส่วนต้นเหตุสำคัญ ของโรคติดเกม ส่วนหนึ่งจากความไม่เข้าใจของพ่อแม่ และผู้ปกครอง ที่มองว่าเด็กอยู่กับเครื่องมือไอที และเด็กเล่นอยู่ในสายตา แล้วรู้สึกว่าไม่อันตราย แต่จริงๆ แล้วการเล่นเกมจนกลายเป็นการเสพติดกลับยิ่งทำให้เด็กไม่ได้พัฒนาทักษะและส่งผลต่อสุขภาพ 

อึ้ง! เด็กที่เข้ารักษาอาการติดเกม อายุน้อยสุด 5 ขวบ

ด้าน สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กทม. พบว่าในปี 2560 มีเด็กป่วยเป็นโรคติดเกมรายใหม่เข้ารับการรักษารวม 129 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 6 เท่าตัว  และมีเด็กที่ป่วยและได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าเป็นโรคติดเกมรวม 429 ราย หรือพบได้ 1 ใน 3 ของเด็กป่วยทั้งหมด  โดยพบในเด็กผู้ชายมากกว่าหญิงอัตรา 7 ต่อ 1 อายุน้อยสุดเพียง 5 ขวบ มากสุด 17 ปี  โดยเด็กที่ป่วยจะใช้เวลาเล่นเกมเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง สถานที่ที่เด็กใช้เล่นเกมออนไลน์มากที่สุดคือบ้าน ร้อยละ 97 ที่โรงเรียน ร้อยละ 72

นอกจากนี้เด็กที่ป่วยเป็นโรคติดเกม ยังพบว่า ป่วยโรคทางจิตเวชอื่นๆ ด้วยถึง 3-8 โรค ซึ่งโรคที่พบมากที่สุดคือ โรคสมาธิสั้น รองลงมา คือ  โรคซึมเศร้า  และโรควิตกกังวล ล่าสุด พบว่ามีเด็กไทยเข้าข่ายติดเกมแล้วแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วยประมาณ 1.6 ล้านคน ส่วนเกมที่เล่นแล้วทำให้ติดและมีผลกระทบมี 3 ชนิดคือเกมยิงต่อสู้  เกมชนิดที่เป็นสงคราม การต่อสู้ออนไลน์ และประเภทกีฬา


สาเหตุหลักเกิดจากการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมของครอบครัวเช่น ขาดวินัย ไม่มีข้อกำหนดการเล่นเกมสูงร้อยละ 72  ครอบครัวจึงมีความสำคัญที่สุด ในการแก้ปัญหานี้ โดยควรฝึกให้เด็กมีวินัย กำหนดเป็นกติกากับลูกด้วยหลักการ “3 ต้อง 3 ไม่” โดย "3 ต้อง" ได้แก่ 1.ต้องเลือกเกมให้ลูก 2.ต้องกำหนดเวลาเล่น เด็กเล็กควรให้เล่นไม่เกินครึ่งชั่วโมง  เด็กโตไม่เกิน 1 ชั่วโมง  และ3. ต้องเล่นกับลูกหรือดูกับลูกและสอนลูกว่าอย่างไหนเหมาะไม่เหมาะ  


ส่วน "3 ไม่" ได้แก่ 1. พ่อแม่ต้องไม่เล่นเกมทั้งวัน ไม่เป็นตัวอย่างที่ย่ำแย่ให้ลูก 2.ไม่ให้ลูกเล่นเกมในเวลาของครอบครัวเช่นขณะรับประทานอาหาร และ 3. ไม่ให้เกมอยู่ในครอบครองเป็นส่วนตัวจนเกินไป เช่นอยู่ในห้องนอน

ขณะเดียวกันต้องเสริมให้เด็กมีกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ  เช่น อ่านหนังสือ ช่วยงานบ้าน เล่นกีฬา เป็นต้น  

ผลกระทบต่อร่างกาย เมื่อ "ติดเกม" 

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อร่างกาย อย่างแรก คือ หน้าจอคอมพิวเตอร์ จะส่งผลให้มีปัญหาตาแห้ง ระคายเคืองตา ส่วนกล้ามเนื้อ จะทำให้ปวดข้อ มีปัญหาเรื่องคอและไหล่ รวมทั้งการติดเกม ยังส่งผลเรื่องการนอน พักผ่อนน้อยจะทำให้มีผลต่อการเจริญเติบโต ขณะที่เรื่องจิตใจนั้น ตัวเกมมีลักษณะทำลายสมาธิ และในเกมเวลาที่อยากได้อะไรก็ได้เลยทันที ทำให้มีอาการหุนหันพลันแล่น ใจร้อน

ดึงลูกออกจากอาการติดเกม ต้องใช้เวลา!

พญ.ดุษฎี กล่าวถึงวิธีการดึงลูกออกจากอาการติดเกม โดยระบุว่า กรณีที่เด็กติดเกมไปแล้วนั้น ก่อนจะดึงเด็กออกมา ขั้นแรกต้องทำสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กก่อน อย่าเพิ่งตัดขาดทันที ไม่อย่างนั้นเด็กจะมีอาการลงแดง โดยขั้นตอนแรก คือ เพิ่มช่วงเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กมีเวลาในการเล่นเกมน้อยลง

จากนั้น ขั้นตอนที่ 2 เริ่มสะท้อนให้ลูกฟังว่าพ่อแม่เป็นห่วงอะไรบ้าง ทั้งสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ รวมทั้ง เมื่อลูกให้เวลากับเกมจะทำให้เหลือเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ หรืออยู่กับพ่อแม่น้อยลง

ส่วนขั้นตอนที่ 3 พ่อแม่เริ่มตกลงทำกติกากับลูกว่า ในแต่ละวันสามารถใช้เวลาเล่มเกมได้กี่ชั่วโมง โดยค่อยๆ ลดลงทีละน้อย ซึ่งระหว่างให้ลูกเล่นเกมน้อยลง พ่อแม่ต้องใช้เวลาทำกิจกรรมกับลูกเพิ่มขึ้นแทน โดยหากิจกรรมที่ลูกชอบ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปจะใช้เวลา 3-6 เดือนในการเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก


ภาพจาก  Pixabay 


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

เด็กติดเกม
มีดฟันแม่
เด็กโมโหเกม
เด็กโมโหแม่
เด็กคว้ามีดทำร้ายแม่
ติดเกมส์
เด็กติดเกมส์