
ศุภวุฒิ สายเชื้อ เผยยุทธศาสตร์รับมือภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ด้วยแนวทางแปรรูปสินค้าเกษตรจากอเมริกา ส่งออกทั่วโลก พร้อมปล่อยสินเชื่อ 3,000 ล้านเยียวยาผู้ประกอบการ
วันที่ 7 เมษายน 2568 นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการเจรจาการค้าระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ภายใต้สถานการณ์ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าโดยให้เหตุผล 3 ประการ ได้แก่ การลดดุลการค้า การเพิ่มรายได้ภาครัฐ และการดึงฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ

สรุปข่าว
นายศุภวุฒิเน้นว่า การเจรจาต้อง “รู้เขา รู้เรา” ไม่เร่งรีบเหมือนบางประเทศ เช่น แคนาดา เวียดนาม หรือแม้แต่สหราชอาณาจักร ที่แม้จะเร่งเปิดเจรจาแต่ก็ยังถูกขึ้นภาษีเช่นกัน รัฐบาลไทยจึงได้เตรียมแผนยุทธศาสตร์และมาตรการรองรับไว้ล่วงหน้า
หนึ่งในแนวทางหลัก คือ การใช้จุดแข็งของไทยในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ควบคู่กับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ซึ่งมีผลผลิตเกินความต้องการในประเทศกว่า 20% เพื่อนำมาแปรรูปและส่งออกสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยยังผลิตไม่พอ เช่น วัตถุดิบเกษตรหรือสินค้าพลังงาน
แนวทางนี้จะดำเนินผ่านการสร้างพันธมิตรกับ “มลรัฐเกษตร” ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์โดยตรง และถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ฝ่ายอเมริกันให้ความสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีมาตรการเสริม เช่น การปราบปรามการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า การเพิ่มการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ และการเปิดสินเชื่อวงเงิน 3,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปยังตลาดอเมริกา รวมถึงการจัดงบสำหรับหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาว
สำหรับกระบวนการเจรจาจะเริ่มในระดับเจ้าหน้าที่ภายใต้การนำของปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก่อนจะเข้าสู่ระดับรัฐมนตรี หากยังมีประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ โดยทั้งหมดดำเนินตามธรรมเนียมการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ
นายศุภวุฒิกล่าวสรุปว่า ประเทศไทยต้องหาจุดแข็งต่อรอง โดยใช้กลยุทธ์ตอบโจทย์ทั้งผลประโยชน์ของไทยและอเมริกา เช่น การแปรรูปอาหารคุณภาพจากทรัพยากรเกษตรของสหรัฐฯ ที่ไทยต้องการ “ขายอะไรให้เรา เราก็จะซื้ออันนั้น ตามความต้องการของเราที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
ที่มาข้อมูล : TNN เรียบเรียง
ที่มารูปภาพ : รัฐบาลไทย

ยศไกร รัตนบรรเทิง
เบน
บรรณาธิการออนไลน์