
นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันแถลงข่าว “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับการแก้วิกฤตปลาหมอคางดำ...ทางรอดระบบนิเวศไทย”
นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า ในฐานะที่กำกับดูแลกรมประมงได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ได้มอบนโยบายให้กรมประมงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ที่ได้กำหนดให้การระบาดของปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการ 15 กิจกรรม กรอบวงเงินงบประมาณ 450 ล้าน ดังนี้
1.การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยสามารถกำจัดปลาหมอคางดำ 3,702,038 กิโลกรัม (บ่อเลี้ยง 2,321,964.50 กก. แหล่งน้ำธรรมชาติ 1,380,073.50 กก.) ผ่านโครงการต่าง ๆ
2. การกำจัดปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง ได้ดำเนินการปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าทั้งสิ้น 743,136 ตัว ได้แก่ ปลากะพงขาว 335,136 ตัว ปลาอีกง 310,000 ตัว ปลาช่อน 58,000 ตัว ปลากราย 20,000 ตัว ปลากดเหลือง 20,000 ตัว
3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ ได้บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำไปผลิตปลาป่น ผลิตน้ำหมักชีวภาพ ปลาร้า นำไปบริโภคแปรรูป ทำปลาแดดเดียว ปลาหวาน กะปิ น้ำปลา และนำส่งโรงงานลูกชิ้น รวมถึงใช้เป็นปลาเหยื่อ รวมกว่า 3,702,038 กิโลกรัม
4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่กันชน ได้ดำเนินการจัดทำระบบแจ้งตำแหน่งการพบปลาหมอคางดำ สำหรับประชาชน และได้จัดตั้งชุดสำรวจและเฝ้าระวังลงพื้นที่สำรวจข้อมูลความชุกชุมในพื้นที่เดือนละ 2 ครั้ง
5. สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ ได้จัดทำการประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำผ่านช่องทางสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วม ตลอดจนออกประกาศ ระเบียบ และกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จำนวน 10 ฉบับ
6.การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ มีการจัดทำโครงการ การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n เพื่อให้เกิดหมันในปลาหมอคางดำ และกรมประมงยังได้จัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย จำนวน 19 เรื่อง เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก สวก. และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
7. การฟื้นฟูระบบนิเวศ ได้มีการวางแผนผลิตพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความหลากหลาย เพื่อเตรียมปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ มุ่งเน้นการฟื้นฟูความหลากหลายและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศให้กับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

สรุปข่าว
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น จากข้อมูลการสำรวจของกรมประมง ในเดือนกรกฎาคม 2567 พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำใน 19 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ นนทบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา แบ่งเป็นที่พบความชุกชุมระดับชุกชุมมาก (มากกว่า 100 ตัว/100 ตารางเมตร) 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ และประจวบคีรีขันธ์ ความชุกชุมระดับปานกลาง (11-100 ตัว/100 ตารางเมตร) 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และความชุกชุมระดับน้อย (1-10 ตัว/100 ตารางเมตร) 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นนทบุรี และสงขลา และไม่พบปลาหมอคางดำ 3 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ชลบุรี และพัทลุง แต่ปัจจุบันไม่พบประชากรปลาหมอคางดำในระดับชุกชุมมาก ส่วนความชุกชุมระดับปานกลาง พบ 5 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และนครศรีธรรมราช และความชุกชุมระดับน้อย 11 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประชากรปลาหมอคางดำมีแนวโน้มลดลงจากการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง (มีการสุ่มตรวจทุกเดือน)
สำหรับสถานการณ์การเพาะเลี้ยงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พบว่าพื้นที่เพาะเลี้ยงที่มีการแพร่ระบาดมาก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติและแบบกึ่งพัฒนา ซึ่งกรมประมงได้ตรวจสอบ ควบคุมและกำจัดอย่างต่อเนื่องต่อไป รวมถึงได้ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่เข้าไปเสนอแนะแนวทางการจัดการบ่อเลี้ยง เพื่อป้องกันการหลุดรอดของปลาหมอคางดำ เข้าไปในบ่อเลี้ยงให้กับเกษตรกรแล้ว
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การดำเนินการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ ตามวาระแห่งชาติของกรมประมงนั้น ได้บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม และดำเนินการอยู่ตลอดในทุกมิติทั้งการป้องกัน กำจัด นำไปใช้ประโยชน์ เยียวยาผลกระทบ ตลอดจนฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งจากข้อมูลทางสถิติต่าง ๆ ที่กรมประมงเก็บรวบรวมอยู่ตลอดนั้น บ่งชี้ได้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเริ่มอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น กรมประมงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการตาม 7 มาตรการสำคัญต่อไป ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการขอใช้งบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 450 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติแล้ว และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นถึงความเร่งด่วนของปัญหา จึงได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ 98,457,100 บาท ให้กรมประมงอย่างเร่งด่วน เพื่อใช้จ่าย ดังนี้ 1. การรับซื้อปลาหมอคางดำ ที่ถูกกำจัดออกจากแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาดทั้งธรรมชาติและบ่อเลี้ยง จำนวน 3 ล้านกิโลกรัม ในราคา 20 บาท/กิโลกรัม เป็นเงิน 60 ล้านบาท เพื่อนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ และแปรรูปในรูปแบบต่าง ๆ 2. สนับสนุนกากชาเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยง 35,000 กิโลกรัม เป็นเงิน 10.5 ล้านบาท 3. สนับสนุนปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง ปลาช่อน ปลากราย ฯลฯ เพื่อปล่อยลงในบ่อเลี้ยงที่กำจัดปลาหมอคางดำแล้ว จำนวน 300,000 ตัว เป็นเงิน 3 ล้านบาท 4. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกไปใช้ประโยชน์ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ จำนวน 3.2 ล้านลิตร และแปรรูปในรูปแบบต่าง ๆ เป็นเงิน 22 ล้านบาท และ5. สนับสนุนเครื่องมือ ทำการประมงเพื่อจับปลาหมอคางดำให้แก่เกษตรกรและชาวประมง พร้อมค่าดำเนินงานต่าง ๆ ประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำได้ในกรอบเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ กรมประมงจะเร่งดำเนินการในการรับซื้อปลาหมอคางดำ โดยขณะนี้ได้กำหนดจุดรับซื้อไว้แล้วในเบื้องต้น 86 จุด และเตรียมประกาศรับสมัครจุดรับซื้อเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ได้ในกรอบเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจะเร่งดำเนินการฟื้นฟูความหลากหลายและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศต่อไป
ที่มาข้อมูล : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่มารูปภาพ : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์