
เปิดข้อมูลปี 67 คนไทยโดนหลอก 168 ล้านครั้ง พุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี ส่วนใหญ่ผ่านฝีมือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
โกโกลุก ประเทศไทย ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) และแอปพลิเคชัน Whoscall เปิดเผยรายงานประจำปี 2567 วิเคราะห์สถานการณ์การหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยอ้างอิงจากข้อมูลการแจ้งเตือนมิจฉาชีพผ่านสายโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์อันตราย และการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล โดยพบว่า การหลอกลวงออนไลน์พุ่ง 112% โดนส่วนใหญ่พบผ่านทางช่อง SMS และ โทรศัพท์
คนไทยโดนหลอกลวงกว่า 168 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่ผ่านฝีมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์
นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีการตรวจพบสายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงสูงถึง 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปีของประเทศไทย โดยแบ่งเป็นโทรศัพท์หลอกลวง 38 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 85% และข้อความ SMS หลอกลวง 130 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 123% จากปีก่อน
กลโกงที่พบบ่อย : แอบอ้างหน่วยงาน - ฉ้อโกงทางการเงิน
Whoscall ระบุว่า กลโกงที่พบบ่อย ได้แก่ การขายสินค้าปลอม การแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน การหลอกให้สมัครเงินกู้อนุมัติง่าย การทวงหนี้ปลอม และการแจ้งหนี้ปลอม ทั้งนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังใช้เทคโนโลยี AI ทำให้กลโกงมีความซับซ้อนและยากต่อการตรวจสอบมากขึ้น

สรุปข่าว
มิจฉาชีพใช้ลิงก์ฟิชชิงมากขึ้น หวังขโมยข้อมูล
ฟีเจอร์ Web Checker ของ Whoscall พบว่าลิงก์อันตรายที่ตรวจพบมากที่สุดคือ "ลิงก์ฟิชชิง" ที่ใช้หลอกขโมยเงินและข้อมูลส่วนบุคคล คิดเป็น 40% ของลิงก์อันตรายทั้งหมด ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นลิงก์ที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ 30% และลิงก์ที่มีมัลแวร์สำหรับขโมยข้อมูลจากอุปกรณ์ 30%
ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลสู่ดาร์กเว็บ - ดีพเว็บเพิ่มขึ้น
จากการวิเคราะห์ของฟีเจอร์ ID Security พบว่า ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 41% รั่วไหลไปยังดาร์กเว็บและดีพเว็บ โดย 97% เป็นอีเมล และ 88% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เช่น วันเกิด ชื่อ-นามสกุล และรหัสผ่านหลุดรั่วไปด้วย
จากกรณีดังกล่าว นายแมนวู จู ย้ำว่า Whoscall จะใช้เทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ และทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อลดอัตราการฉ้อโกงและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางดิจิทัล
ด้าน พ.ต.อ.เกรียงไกร พุทไธสง ผู้กำกับกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม 2568 มีคดีอาชญากรรมออนไลน์กว่า 30,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท โดยสามารถอายัดได้แล้ว 73 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยมีมูลค่าความเสียหายรวมจากอาชญากรรมออนไลน์กว่า 80,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย เตรียมส่งรายงานฉบับนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยพัฒนามาตรการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และสร้างแคมเปญให้ความรู้แก่ประชาชนต่อไป