เตือน"โรคฉี่หนู” ระบาดหลังน้ำลด รักษาช้าเสี่ยงเสียชีวิต

เตือน"โรคฉี่หนู” ระบาดหลังน้ำลด รักษาช้าเสี่ยงเสียชีวิต

สรุปข่าว

วันนี้ ( 29 ก.ย. 62 )กระทรวงสาธารณสุข แสดงความเป็นห่วงประชาชน ว่าหลังปัญหาน้ำท่วมเริ่มลดระดับลงแล้ว จะเกิดโรคระบาด เช่น โรคเลปโตสไปโรสิส หรือ โรคฉี่หนู นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  เปิดเผยว่า การวินิจฉัยโรคฉี่หนู สามารถส่งเลือดหรือปัสสาวะผู้ป่วยมาตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติ (แล็บ) ได้ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีห้องแล็บพร้อมให้บริการตรวจหาเชื้อโรคฉี่หนู ด้วยการหาระดับภูมิคุ้มกัน สารพันธุกรรม และเพาะแยกเชื้อทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่ วิธี MAT วิธี IFA และวิธี PCRใช้ระยะเวลาตรวจวินิจฉัยและรู้ผลไม่เกิน 48 ชั่วโมง หรือ 2 วันทำการหลังจากรับตัวอย่างเข้าห้องแล็บ

 

นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศที่พร้อมให้บริการตรวจโรคฉี่หนูเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งมาตรวจยืนยันโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้ง เพื่อรองรับเตรียมพร้อมในกรณีที่อาจเกิดโรคระบาดขึ้นได้

 

โรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต มีสาเหตุมาจากเชื้อ Leptospira interrogans จากการสัมผัสเลือดหรือปัสสาวะของสัตว์โดยตรง เช่น โค กระบือ สุกร สุนัข แมว หนู อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถติดเชื้อผ่านทางรอยแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกบริเวณผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก ที่เกิดจากการทำกิจกรรมในพื้นที่ชื้นแฉะ มีน้ำท่วมขัง หรือติดเชื้อ จากการกินอาหาร หรือ ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป 

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมาก เพราะระยะแรกจะแสดงอาการไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย คล้ายกับโรคไข้หวัดหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก การตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและรวดเร็วจะช่วยให้แพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ถูกต้องและปลอดภัย


เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

กระทรวงสาธารณสุขฉี่หนู
โรคเลปโตสไปโรสิส
ปัญหาน้ำท่วม