

สรุปข่าว
กราดยิงอุบล จากกรณีเกิดเหตุกลุ่มคนยกพวกทำร้ายร่างกายกัน โดยใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุ บริเวณลานจอดรถแห่งหนึ่ง ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี เมื่อช่วงกลางดึก (3 ส.ค.)ที่ผ่านมานั้น เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย
โดยพนักงานสอบสวนได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานและแพทย์เวร ทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำการสอบปากคำพยาน และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของกฎหมาย เบื้องต้นขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการพิสูจน์ทราบถึงกลุ่มผู้ก่อเหตุพบว่ามีจำนวน 10 ราย โดยได้ทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาได้แล้ว 3 ราย ในข้อหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นและความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 รวมถึงความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
วันนี้ TNN Online ได้นำบทความชื่อ บอกเล่า ก้าวทันหมอ ในหัวข้อ เอาตัวรอดอย่างไร เมื่อตกอยู่ใน สถานการณ์ความรุนแรง เกี่ยวกับ เหตุกราดยิง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้จัดทำขึ้น ในตอนที่เกิดจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่จังหวัดโคราช เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 โดยระบุว่า หากประสบเหตุอยู่ท่ามกลางการกราดยิง สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งและโดยเร็วที่สุดคือการหลบหนี การหลบซ่อน และการต่อสู้ (Run – Hide – Fight) โดยการหลบหนีมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
การหลบหนี (RUN)
-หนีจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด รวมถึงสังเกตและจดจำทางเข้าออกให้แม่นยำ
-วางแผน และเตรียมพร้อมในการหลบหนีออกจากสถานที่นั้นอย่างรวดเร็วที่สุด โดยหลีกเลี่ยงเส้นทางหนีที่คับแคบ
-มีสติอยู่เสมอขณะหลบหนี ที่สำคัญควรสละสิ่งของหรือสัมภาระทั้งหมดเพื่อการหลบหนีที่คล่องตัว และหากเป็นไปได้ควรช่วยเหลือคนรอบตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
การหลบซ่อน (HIDE)
ในกรณีที่ไม่สามารถหลบหนีได้ แนะนำให้หาที่หลบซ่อน เพื่อให้พ้นสายตาของผู้ก่อเหตุ โดยสิ่งที่ควรทำ มีดังนี้
-ปิดไฟมืด ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องมือติดต่อที่ทำให้เกิดเสียง เช่นทีวี วิทยุ เปลี่ยนเสียงโทรศัพท์ให้เป็นระบบสั่น
-หากมีหน้าต่างหรือประตู ให้ปิดม่าน และล็อคประตูให้แน่นหนา
-พยายามหาวัตถุที่หนักและมั่นคง เช่น โต๊ะ ตู้ กั้นประตูไว้
-การหลบซ่อนที่ดี ควรแอบอยู่หลังหรือใต้โต๊ะ ตู้ที่แข็งแรง
-พยายามหลีกเลี่ยงที่อับปิดตาย และไม่ควรอยู่ใกล้ที่เสี่ยงอันตราย เช่น ริมหน้าต่างกระจก
-หากหลบซ่อนอยู่หลายคน พยายามกระจายพื้นที่หลบซ่อนให้มากที่สุด และพยายามขอความช่วยเหลือโดยไม่ต้องใช้เสียง เช่น ขอความช่วยเหลือผ่านช่องทาง SMS หรือ LINE เป็นต้น
การต่อสู้ (FIGHT)
-หากอยู่ที่สถานการณ์คับขัน ไม่สามารถหลบหนีหรือซ่อนตัวได้ วิธีการสุดท้ายในการเอาตัวรอดคือ การต่อสู้ด้วยสติ และกำลังทั้งหมดที่มี และสิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ในสถานการณ์ซึ่งหน้านั้น ไม่ควรพูดเพื่ออ้อนวอน ขอร้องหรือเพื่อเกลี้ยกล่อมคนร้าย เพราะวิธีการเหล่านี้มักไม่ได้ผล และในทางกลับกันอาจยิ่งกระตุ้นคนร้ายให้ตื่นตัวมากขึ้น
-การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์การกราดยิงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ รศ.นพ.รัฐพลี กล่าวว่าเมื่ออยู่ในที่สาธารณะควรพึงมีสติเสมอ หากมีเสียงดังผิดปกติ เสียงปืน หรือเสียงระเบิด ขอให้สังเกตทิศทางและแหล่งที่มาของเสียง หากได้ยินเสียงประกาศเตือน หรือเกิดความสับสนของกลุ่มคน ขอให้พึงระวังตนเองและหาที่หลบหนี หรือหลบซ่อนโดยเร็วเปลี่ยนการสื่อสารให้เป็นแบบไม่ต้องใช้เสียง รวมถึงหาช่องทางในการแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งของมือปืนต้นเหตุ จำนวนผู้ก่อเหตุ ลักษณะ และการแต่งตัวของผู้ก่อเหตุ จำนวนและประเภทอาวุธ และจำนวนผู้ที่ต้องสงสัยว่าบาดเจ็บ
การเตรียมพร้อมที่ทุกคนพึงมีคือ
- ควรทราบเบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็นเช่น เบอร์ 191, 1669 หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น จส.100 เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินในหลายๆ ช่องทาง
-ควรรับการฝึกอบรมปฐมพยาบาลสำหรับอุบัติเหตุ หรือการอบรมการห้ามเลือดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิด
-ก่อนออกจากบ้าน ควรชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือให้เต็ม มีแบตเตอรี่สำรองพร้อมสายชาร์จเสมอ
-บอกที่มาที่ไปและเวลากลับให้คนที่บ้าน หรือเพื่อนสนิททราบเพื่อสามารถช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน
สำหรับวิธีการห้ามเลือดอย่างง่ายๆ มีข้อแนะนำดังนี้
-หาจุดที่เลือดออกว่าอยู่บริเวณไหน และเลือดออกมากขนาดไหน
-ทำการห้ามเลือด โดยใช้มือกดนิ่งๆ ตรงบริเวณที่เลือดออกไว้ตลอด ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดหดและสามารถห้ามเลือดได้
-ในกรณีที่ผู้ได้รับบาดเจ็บมีเลือดออกเป็นแผลใหญ่ ให้ใช้ผ้าสะอาดอัดไปตรงบริเวณแผลใหญ่นั้น และใช้มือกดลงไปที่ผ้าอีกที เพื่อห้ามเลือด
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ภาพจาก พร้อมพล เลิฟ ภูมิแสน / AFP
ที่มาข้อมูล : -