
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงาน JFCCT Prime Minister’s Address Luncheon 2025 ของหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หัวข้อ “Sustainable Thailand - Advancing with Reforms”บางช่วง นายกรัฐมนตรี ระบุว่า “Sustainable Thailand - Advancing with Reforms” ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาล เพื่อสร้างการเติบโตและยืดหยุ่นให้กับประเทศไทยในระยะยาว เห็นว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนจะช่วยนำทางประเทศไทย ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างความสำเร็จระยะยาวในเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น รัฐบาลย้ำในการให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ภายในปี 2030 โดยดัชนี SDGs ปี 2024 ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 45 ของโลก อันดับที่ 3 ในเอเชีย และอันดับที่ 1 ในอาเซียน ติดต่อกัน 6 ปี (2019 - 2024)
เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยได้รับเชิญให้เข้าสู่กระบวนการเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่การเป็นสมาชิก OECD โดยเป็นผลสำเร็จจากโครงการความร่วมมือต่าง ๆ กับ OECD เช่น การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และการสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านของไทย ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

สรุปข่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของไทยเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นเปลี่ยนการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมให้เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนการนำโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green มาใช้ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลัก เช่น เกษตรกรรมและอาหาร การดูแลสุขภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานและวัสดุ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้จุดแข็งของไทยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลก
สิ่งสำคัญของกลยุทธ์นี้คือ การส่งเสริมความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านการผลิตและการบริโภค การลดขยะ และการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะสนับสนุนไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065
นอกจากนี้ ไทยมีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อปี 2018 และมีความก้าวหน้าภายใต้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 50 % ภายในปี 2040 โดยความพยายามเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างอนาคตที่ดีและยั่งยืนสำหรับทุกคน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งมุ่งเน้นที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เชื่อมั่นว่าแนวคิดและความคิดเห็นที่ได้มีการแลกเปลี่ยนในวันนี้จะเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางในการขับเคลื่อนสู่สังคมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น พร้อมเน้นย้ำการทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน มั่งคั่ง และครอบคลุมสำหรับทุกคน
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี สวมสูทน้ำตาลปักลายดอกกุหลาบ ขณะที่ นางวีเบ็คก้า ลิสซานด์ เลอร์ว็อก ประธาน JFCCT มอบดอกกุหลาบสีชมพู เนื่องในวันวาเลนไทน์ ให้กับนายกรัฐมนตรี ด้วย