กกต. แถลงภาพรวมเลือกตั้งอบจ. มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 58% - ลำพูนสูงสุด

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภา อบจ. ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2568 แถลงภาพรวมการเลือกตั้ง อบจ. 2568 พบผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายก อบจ. มีผู้มาใช้สิทธิ 16,362,185 คน คิดเป็น 58.45 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทางด้านสมาชิกสภา อบจ. มีผู้มาใช้สิทธิ 26,418,754 คน คิดเป็น 56.06 เปอร์เซ็นต์

นายแสวง ระบุว่าเมื่อเทียบจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิลดลงคิดเป็นร้อยละ 4 เนื่องจากครั้งก่อนตั้งเป้าออกมาใช้สิทธิที่ร้อยละ 70 แต่ผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 62 ส่วนครั้งนี้ตั้งเป้าผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 65 ผู้ออกมาใช้สิทธิ์จริงร้อยละ 58

ขณะที่ จ.ลำพูน มีผู้ใช้สิทธิ์มากสุด 73.43%  ตามมาด้วยนครนายก คิดเป็น 73.00 เปอร์เซ็นต์, พัทลุง คิดเป็น 72.56 เปอร์เซ็นต์, นราธิวาส คิดเป็น 68.42 เปอร์เซ็นต์, มุกดาหาร คิดเป็น 68.03 เปอร์เซ็นต์

กกต. แถลงภาพรวมเลือกตั้งอบจ. มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 58% - ลำพูนสูงสุด

สรุปข่าว

กกต. แถลงภาพรวมเลือกตั้งนายกอบจ. - สมาชิกสภามีผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ถึง 60% - ลำพูนมีคนออกมาใช้สิทธิสูงสุด

นายแสวง ระบุว่าเมื่อเทียบจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิลดลงคิดเป็นร้อยละ 4 เนื่องจากครั้งก่อนตั้งเป้าออกมาใช้สิทธิที่ร้อยละ 70 แต่ผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 62 ส่วนครั้งนี้ตั้งเป้าผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 65 ผู้ออกมาใช้สิทธิ์จริงร้อยละ 58

นอกจากนี้ต้องมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. ใหม่ จำนวน 4 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ เขตเลือกตั้งที่ 1  จากกรณีที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง (เนื่องจากผู้สมัครมีลักษณะต้องห้าม อยู่ระหว่าง การถูกจำกัดสิทธิ เนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา 50 (20) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562

สำหรับอีก 3 เขตได้แก่ จ.สุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1 , จ.ตรัง อำเภอเมืองตรัง เขตเลือกตั้งที่ 2, จ.ชุมพร อำเภอสวี เขตเลือกตั้งที่ 4 เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่มากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด
การดำเนินการให้มีการเลือกตั้งสมาชิก อบจ. ทั้ง 4 เขตเลือกตั้ง ใน 4 จังหวัด

ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด จะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง และดำเนินการรับสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้ง และกำหนดวันเลือกตั้งไม่เกิน 45 วัน นับแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่

สำหรับข้อสังเกตจากประชาชนในกรณีบัตรเสีย ที่มีมากกว่า1 ล้านใบนั้น นายแสวงกล่าวว่า จำนวนบัตรเสียจากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่แตกต่างจากปี 2563 โดยบัตรเสียจากการเลือกนายกฯ มีจำนวนใกล้เคียงกับปี 2563 ขณะที่บัตรเสียจากการเลือกสมาชิกกลับลดลงเหลือ 7.63% ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ พบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากระบบเลือกตั้งที่ทำให้มีผู้สมัครทั้งในนามพรรคและในนามสมาชิก บางจังหวัดมีการเลือกตั้งเฉพาะสมาชิก 

ขณะที่บางจังหวัดมีการเลือกตั้งทั้งสองประเภท ส่งผลให้จำนวนผู้สมัครแตกต่างกัน และอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนจนลงคะแนนในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่ถือเป็นการตั้งใจทำให้บัตรเสีย

นอกจากนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งใจทำให้บัตรเสียโดยเจตนานั้น พบว่ามีจำนวนน้อย สำหรับบัตรโหวตโน ซึ่งเป็นการเลือกที่จะไม่ลงคะแนนให้ผู้ใด ทาง กกต. ไม่สามารถให้คำตอบแทนประชาชนได้ แต่สามารถมองได้ว่าเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อผู้สมัครในเขตนั้นๆ

สรุปข้อมูลการใช้สิทธิเลือกตั้ง

สรุปข้อมูลการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรวจสอบความถูกต้องก่อนรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ภาพรวมผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. (จำนวน 47 จังหวัด) ดังนี้

จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  27,991,587 คน

มีผู้มาใช้สิทธิ  16,362,185  คน คิดเป็น 58.45 เปอร์เซ็นต์

-  บัตรดี  14,272,694  ใบ    คิดเป็น 87.23 เปอร์เซ็นต์

- บัตรเสีย 931,290 ใบ คิดเป็น 5.69 เปอร์เซ็นต์

- บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,158,201 ใบ คิดเป็น 7.08 เปอร์เซ็นต์

ภาพรวมผู้มีสิทธิสมาชิกสภา อบจ. (จำนวน 76 จังหวัด) ดังนี้

จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47,124,842 คน

มีผู้มาใช้สิทธิ 26,418,754 คน คิดเป็น 56.06 เปอร์เซ็นต์

- บัตรดี 23,131,324 ใบ  คิดเป็น 87.56 เปอร์เซ็นต์

- บัตรเสีย 1,488,086 ใบ    คิดเป็น 5.63 เปอร์เซ็นต์

- บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,799,344 ใบ คิดเป็น 6.81 เปอร์เซ็นต์

จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. และนายก อบจ. (จำนวน 47 จังหวัด)
มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

1. ลำพูน คิดเป็น 73.43 เปอร์เซ็นต์

2. นครนายก คิดเป็น 73.00 เปอร์เซ็นต์

3. พัทลุง คิดเป็น 72.56 เปอร์เซ็นต์

4. นราธิวาส คิดเป็น 68.42 เปอร์เซ็นต์

5. มุกดาหาร คิดเป็น 68.03 เปอร์เซ็นต์

จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. (29 จังหวัด) มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

1. พะเยา คิดเป็น 61.68 เปอร์เซ็นต์

2. เลย คิดเป็น 58.04 เปอร์เซ็นต์

3. เพชรบุรี คิดเป็น 57.44 เปอร์เซ็นต์

4. ยโสธร คิดเป็น 56.72 เปอร์เซ็นต์

5. ชัยนาท  คิดเป็น 56.63 เปอร์เซ็นต์

ที่มาข้อมูล : กกต.

ที่มารูปภาพ : กกต