ชายจีนวัย 33 ปี ผู้ไม่ย่อท้อ กับการเข้าสอบ “เกาเข่า” ถึง 13 ครั้ง หวังสานฝันเข้ามหาลัยอันดับ 1 ของจีน
ชายชาวจีนผู้มุ่งมั่น กับการทำข้อสอบมหาวิทยาลัยสุดหินของจีน ถึง 13 ครั้ง หวังสานฝันเข้ามหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของจีน กลับจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนบนโลกอินเทอร์เน็ต ถึงค่านิยมของสังคมที่มองว่า เข้ามหาวิทยาลัยดีเป็นแต้มต่อสู่ความสำเร็จ
มหาวิทยาลัยคือใบเบิกทาง
สื่อท้องถิ่นจีน The Paper รายงานว่า ถาง ซ่างจุ้น ชายวัย 33 ปี จากเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทำการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่เรียกว่า “เกาเข่า” เป็นครั้งที่ 13 ในปีนี้
รายงานกล่าวว่า แม้ว่าคะแนนเกาเข่าของเขาจะดีขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เขาอดคาดหวังไม่ได้ว่าตัวเองใกล้จะได้เข้ามหาวิทยาลัยในฝัน แต่ในปีนี้คะแนนของเขากลับลดลงอย่างมาก ทำให้มีสิทธิ์เข้าได้แค่มหาวิทยาลัยกว่างซีเท่านั้น
ถาง กล่าวว่า การเรียนที่มหาวิทยาลัยกว่างซีจะเป็นการเตรียมการชั่วคราว เขายังคงวางแผนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยชิงหัวอีกครั้งในปีหน้า โดย ชิงหัว เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศจีน
“ผมค่อนข้างเครียด” ถาง กล่าว “หวังว่าเกาเข่าปีหน้า จะเป็นปีที่ผมสมหวังเสียที”
“เกาเข่า” สานฝันความต่างทางชนชั้น
นอกจากมหาวิทยาลัยกว่างซีแล้ว เขายังเคยเข้าเรียนในสถานศึกษาชั้นนำอีกสองแห่ง แต่สุดท้ายก็ถอนตัว และมุ่งมั่นที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยชิงหัว ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก และอันดับที่ 3 ในเอเชีย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ปี 2022 โดย Quacquarelli Symonds (QS)
ในประเทศจีน การทดสอบเกาเข่า มีความสำคัญต่อโอกาสการทำงาน อีกทั้งในสายตาของหลาย ๆ คน การสอบนี้เป็นการพลิกชีวิตครั้งใหญ่ เนื่องจากเป็นโอกาสเดียว สำหรับนักเรียนจากครอบครัวด้อยโอกาส ที่จะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ
ถาง เกิดในครอบครัวชาวนาในเขตซ่างซี ของกว่างซีจ้วง โดยเมื่อปี 2009 เขาสอบ “เกาเข่า” เป็นครั้งแรก และทำคะแนนได้ต่ำมาก จนทำให้มีสิทธิ์เข้าเรียนแค่มหาวิทยาลัยอันดับล่าง ๆ เท่านั้น
เจ็ดปีต่อจากนั้น เขาเตรียมตัวสำหรับการสอบ “เกาเข่า” ครั้งใหม่ แม้ยังล้มเหลว แต่เขาก็ยังเตรียมตัวสอบใหม่อีกเรื่อย ๆ โดยเก็บความลับนี้ไว้ไม่ให้ครอบครัวรับรู้ เพราะเกรงว่าพวกเขาจะไม่อนุมัติ
แรงผลักดันที่ทำให้ยังไปต่อ
ถาง ยอมเปิดเผยกับพ่อแม่ ถึงสิ่งที่เขาทำในปี 2016 เมื่อเขาทำคะแนนสูงพอที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับสูง ขณะที่ พ่อแม่ของเขาบอกว่า พวกเขาไม่ได้ถือโทษเรื่องที่เขาปกปิด และภูมิใจในความพากเพียรของลูกชาย
แต่ ถาง ลาออกจากมหาวิทยาลัยนี้ เพราะยังมีความหวังที่จะเข้าเรียนในชิงหัว ซึ่งจุดไฟความมุ่งมั่นของตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากได้ยินว่า โรงเรียนมัธยมปลายในหนานหนิง เสนอทุนให้ผู้ที่มีคะแนนเกาเข่าสูง เฉกเช่นเดียวกับถาง ถึง 100,000 หยวน (ราว 512,790 บาท) หากเขาเรียนเตรียมสอบที่นั่น และเข้าสอบเกาเข่าในปีถัดมา
โรงเรียนมัธยมแห่งนี้ ยังเสนอเงินช่วยเหลือให้เขา เดือนละ 2,000 หยวน (ราว 10,250 บาท) และสัญญาว่าจะให้เงิน 600,000 หยวน (ราว 3,076,790 บาท) หากเขาสามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชิงหัว หรือมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้
ถาง เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้มาสองปีแล้ว เขาสอบเกาเข่าอีกสองครั้ง แต่คะแนนก็ยังไม่ถึงมหาวิทยาลัยชิงหัวเสียที
ไม่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่า
ต่อมา เขาย้ายไปเรียนในโรงเรียนอีกแห่ง ซึ่งเสนอสิ่งจูงใจที่คล้ายกัน สำหรับผู้ที่เตรียมสอบเกาเข่า
รายงานระบุว่า ในช่วงนั้น เขาทำงานเป็นติวเตอร์ในช่วงวันหยุดฤดูร้อนและบางครั้งก็เป็นพนักงานส่งอาหาร และในช่วงสองปีที่ผ่านมา เขาได้ซื้อขายหุ้นและกองทุน โดยมีรายได้หลายหมื่นหยวน
ถาง กล่าวว่า เขาไม่เสียใจที่ใช้เวลาหลายปีไปกับการเตรียมสอบเกาเข่า
“แต่บางครั้ง ผมก็คิดว่า ถ้าสามารถทำงานเต็มเวลาได้ ครอบครัวของผมคงไม่ยากจนขนาดนี้ ตอนนี้ผมไม่มีอะไรเลย แถมยังเป็นเรื่องยากที่จะทำอะไรตามใจตัวเอง” ถาง กล่าว
ส่องมุมมองชาวเน็ตจีน
เรื่องราวของถาง ซ่างจุ้น บน Weibo มีผู้เข้าชมกว่า 190 ล้านครั้ง และมีความคิดเห็นมากกว่า 6,000 รายการ
“นิยามชีวิตคนธรรมดาคืออะไร? ผมคิดว่า เราควรเคารพทางเลือกของเขา เราไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงความคิดเห็นว่า อะไรคุ้มหรือไม่คุ้มค่า” ผู้แสดงความคิดเห็นคนหนึ่ง กล่าว
แต่บางคนไม่เห็นด้วย “เขาไม่รู้หรือว่า เวลาและโอกาสในชีวิตของเรามีจำกัด?”
“เขาสามารถเรียนที่มหาวิทยาลัยก่อน พอได้วุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรี ค่อยสมัครเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยชิงหัว หรือเขาสามารถทำงาน ไปพร้อมกับการเตรียมสอบเข้าบัณฑิตวิทยาลัยของชิงหัวก็ย่อมได้” ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกคนหนึ่ง แนะนำ
ดาบสองคมจากการแข่งขันที่ไม่สิ้นสุด
ซวง ปิงฉี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 เรียกร้องให้สาธารณชนมองว่า ประสบการณ์ของถาง เป็นกรณีเชิงลบ
“โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ปลูกฝังให้นักเรียนมีทัศนะว่าการเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เท่ากับความสำเร็จในชีวิต” ซวง อธิบาย
“บรรดานักศึกษาจะได้รับแจ้งว่า หลังจากที่พวกเขาได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ พวกเขาไม่จำเป็นต้องเรียนหรือทำงานหนักอีกต่อไป” ซวง ให้สัมภาษณ์กับ South China Morning Post หรือ SCMP
“เราควรระมัดระวัง หากมีผู้ปกครองหรือครูในโรงเรียน ใช้เรื่องราวของถาง เพื่อกดดันให้นักเรียนเรียนหนักขึ้นและหนักขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ถาง ยังไม่ได้ตอบกลับบทความของ SCMP ตามที่สำนักข่าวเสนอไปแต่อย่างใด แต่ดูเหมือนเขาก็ยังคงเดินหน้าทำตามความฝันต่อไป ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม
—————
เรื่อง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Baidu