TNN ชาติอาเซียนเริ่มเปิดประเทศ ละทิ้งหลักปลอดโควิด หลังผ่านจุดพีค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อยู่ร่วมกับไวรัส

TNN

World

ชาติอาเซียนเริ่มเปิดประเทศ ละทิ้งหลักปลอดโควิด หลังผ่านจุดพีค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อยู่ร่วมกับไวรัส

ชาติอาเซียนเริ่มเปิดประเทศ ละทิ้งหลักปลอดโควิด หลังผ่านจุดพีค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อยู่ร่วมกับไวรัส

หลายชาติในอาเซียนละทิ้งนโยบาย “Zero-Covid” หรือ โควิดเป็นศูนย์ เพื่อเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจ ท่ามกลางความกังวลของผู้เชี่ยวชาญว่าอาจจะสร้างความเสียหายครั้งใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า หากเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยว ทั้งที่ประชาชนในประเทศที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ครบถ้วน ยังมีจำนวนต่ำอยู่ อาจทำให้ระบบสาธารณสุขต้องรับผู้ป่วยโควิดจนล้นมืออีกครั้ง


สำนักข่าว CNN รายงานว่า โควิด-19 ได้ระบาดหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เนื่องจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ Delta ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว


แต่หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือ จำกัดการเคลื่อนที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - สิงหาคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ขณะนี้หลายชาติในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย กำลังละทิ้งนโยบาย “Zero-Covid” หรือ “โควิดเป็นศูนย์” หันมาหาทางใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ และกำลังมองหาการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดพรมแดนรับนักเดินทางจากต่างประเทศอีกครั้ง


จบนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’


มาเลเซียและอินโดนีเซีย บังคับใช้มาตรกรล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ขณะที่ไทยและเวียดนามล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้, ผู้คนนับล้านได้รับคำสั่งให้อยู่บ้าน และห้ามการเดินทางภายในประเทศ โรงเรียนปิดทำการเรียนการสอน การขนส่งสาธารณะถูกระงับ และห้ามการชุมนุม


ผลที่ได้คือ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงทั่วทั้งภูมิภาค แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับสูง โดยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 20,000 คนต่อวัน


ส่วนไทย เวียดนาม และมาเลเซีย มีการบันทึกผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 15,000 คนทุกๆ 24 ชั่วโมง ขณะที่อัตราการติดเชื้อของอินโดนีเซียลดลงมากที่สุด มีรายงานผู้ติดเชื้อ ไม่กี่พันคนต่อวัน


ผ่านจุดพีค เริ่มเปิดประเทศ


จุดสูงสุดของการระบาดเพิ่งผ่านพ้นไป ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ก็ยังต่ำมากในหลายพื้นที่ แต่รัฐบาลหลายชาติในอาเซียน ก็เตรียมจะเปิดประเทศรับนักเดินทางต่างชาติอีกครั้งแล้ว


สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เวียดนามวางแผนที่จะเปิดเกาะฟูกว๊อก รีสอร์ทตากอากาศชื่อดัง สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งในเดือนหน้า รัฐบาลเวียดนามให้เหตุผลว่า แรงกดดันทางเศรษฐกิจทำให้ต้องตัดสินใจเช่นนี้


ด้านรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวเวียดนามระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบร้ายแรง ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขณะที่ล่าสุดรายงานจาก CNN ระบุว่า มีประชากรน้อยกว่า 7% ของประชากรที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดครบถ้วน


อย่างไรก็ตามเวียดนามก็เพิ่ง ลงนามในข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนอับดาลา 10 ล้านโดสจากคิวบา กลายเป็นประเทศต่างชาติประเทศแรกที่อนุมัติใช้วัคซีนอับดาลาเป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18 กันยายน) คิวบายังจะถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนนี้ให้เวียดนามภายในสิ้นปีนี้ด้วย


และก่อนหน้านี้รัฐบาลเวียดนามแถลงบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีสำหรับผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัสเซียและสหรัฐฯ ด้วยความพยายามที่จะเพิ่มขีดความสามารถด้านวัคซีนของประเทศ


เปิดเกาะบาหลีและลังกาวี


อินโดนีเซีย ซึ่งฉีดวัคซีนต้านให้กับประชากรครบถ้วนมากกว่า 16% ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ เช่นกัน โดยอนุญาตให้เปิดใช้พื้นที่สาธารณะอีกครั้ง และอนุญาตให้โรงงานกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบางที่ของประเทศ รวมทั้งเกาะบาหลี ภายในเดือนตุลาคม


มาเลเซีย มีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิดสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ประชากรมากกว่า 56% ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เปิดเกาะลังกาวีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศได้เดินทางไปพักผ่อนอีกครั้ง ขณะที่หลายรัฐได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการ และข้อจำกัดต่าง ๆ สำหรับผู้ได้รับวัคซีนต้านโควิด รวมถึงการรับประทานอาหารภายในร้านและการเดินทางระหว่างรัฐ รัฐบาลมาเลเซียเตรียมจะประกาศเข้าสู่ระยะโควิดเป็นโรคประจำถิ่นในเดือนตุลาคมนี้


สิงคโปร์จะไม่ใช่นโยบายปลอดโควิดแล้ว


ในบรรดาประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ ที่ล่าสุด มีประชากรฉีดวัคซีนครบถ้วน 79.8% ได้เผยท่าที ในการเปลี่ยนจากนโยบาย "ปลอดโควิด" หรือ Zero-covid ก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน


อภิสิทธิ์ ริมัล ผู้ประสานงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉินระดับภูมิภาคของสหพันธ์กาชาดสากลระบุว่า แม้ว่าชาติอื่น ๆ ในอาเซียน จะยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เตรียมเปิดประเทศอีกอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังชั่งน้ำหนักถึงความยั่งยืนในระยะยาวของกลยุทธ์ดังกล่าว


ริมัล กล่าวด้วยว่า มีการพูดคุยกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ว่า ชะตากรรมของโควิดจะเป็นอย่างไรต่อไป สถานการณ์หนึ่งที่เป็นไปได้ คือ มันจะเป็นโรคประจำถิ่นที่ก้าวไปข้างหน้า และโควิดจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา


นักวิเคราะห์จาก CNN มองว่า ในอีกแง่นึง การเปิดประเทศอีกครั้งอย่างรวดเร็วของภูมิภาคนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวทาง "การใช้ชีวิตร่วมกับโควิด" ในประเทศตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักรและบางส่วนของสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งการใช้ชีวิตประจำวันได้กลับมาเป็นปกติตามปกติ ล่าสุด สหรัฐฯประกาศจะยกเลิกห้ามการเดินทางเข้าประเทศในเดือนหน้า แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดครบถ้วน


อันตรายจากการเปิดประเทศเร็วเกินไป


หลายประเทศที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตกับโควิด เช่น สหราชอาณาจักร มีผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วน 65% ขณะที่แคนาดาเกือบ 70% และจะมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงหลังจากเปิดประเทศ แต่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลยังคงต่ำในประเทศเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากการฉีดวัคซีน


อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิดในบางประเทศในอาเซียนที่ยังต่ำอยู่ ไม่ถึง 70-80% ที่เป็นอัตราที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น รวมทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย จะทำให้การเปิดประเทศอีกครั้ง มีความเสี่ยงมากกว่าในประเทศตะวันตก


หยาน จงหวง ผู้อาวุโสด้านสาธารณสุขระดับโลกของศูนย์คลังสมอง สภาวิเทศสัมพันธ์ ระบุว่า หากอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิดที่มีประสิทธิภาพสูงไม่มากพอ ก่อนที่จะยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ ระบบการดูแลสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจล้นมืออย่างรวดเร็ว และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจนล้นห้อง ICU นอกจากนี้ เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจ ก็จะขาดแคลน


ขณะที่นักวิเคราะห์จาก CNN มองว่า ถึงแม้จะมีความเสี่ยงที่ระบบสาธารณสุขล้นมือ หากเปิดพรมแดนรับนักเดินทางต่างชาติเข้าประเทศ แต่สำหรับผู้นำหลายชาติในอาเซียน อาจไม่มีทางเลือกมากนัก  เพราะแม้ว่าวัคซีนต้านโควิดยังไม่เพียงพอ และหลายประเทศไม่น่าจะได้รับวัคซีนต้านโควิดจำนวนมากในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย ประชาชนก็ต้องสูญเสียโอกาสในการทำงาน ถูกกักตัวอยู่กับบ้าน และเผชิญกับปัญหาปากท้อง

ข่าวแนะนำ