วีรสตรีเลือดจีนจากเหตุ 9/11 ทำความรู้จัก ‘เบ็ตตี’ แอร์โฮสเตสผู้กล้า แจ้งเตือนก่อการร้าย ถล่ม ‘เวิลด์เทรดฯ’
มรดกความทรงจำ รำลึกเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐฯ ทำความรู้จัก “เบ็ตตี แอน ออง” วีรสตรีเชื้อสายจีน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่กู่ก้องเตือนภัยก่อการร้าย
ชื่อของเธอ “เบ็ตตี แอน ออง”
ฤดูใบไม้ผลิปี 2002 'เคธี ออง เฮอร์เรรา' ได้รับโทรศัพท์จากสำนักงานผู้ตรวจสอบทางการแพทย์ของนครนิวยอร์ก พื้นที่ที่ North Tower ของอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เคยตั้งอยู่
เธอได้รับแจ้งว่า พบกระดูกต้นขา ขนาด 2 นิ้ว และเนื้อเยื่ออ่อนบางส่วน ที่ได้รับการตรวจพบและระบุได้ว่า ตรงกับ DNA ของ “เบ็ตตี” น้องสาวของเธอ
นั่นคือร่างกายที่เหลืออยู่ของ "เบ็ตตี แอน ออง" พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน วัย 45 ปี เธอเป็นคนแรกที่แจ้งเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเหตุการก่อการร้าย ในวันที่ 11 กันยายน 2001
สมาชิกกลุ่มก่อการร้าย 5 คน เข้าควบคุมเที่ยวบิน AA11 ของ American Airlines หนึ่งในเครื่องบิน 4 ลำ ที่ถูกจี้ในเหตุวินาศกรรม 9/11 มุ่งหน้าจากบอสตัน ไปยังนครลอสแองเจลิส
ช่วง 25 นาทีสุดท้ายของชีวิต เบ็ตตีใช้สายด่วนฉุกเฉินของเครื่องบิน พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน ให้ข้อมูลอย่างใจเย็นเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน รวมถึงการบาดเจ็บของผู้โดยสารและลูกเรือ
ท้ายที่สุดเครื่องบินลำดังกล่าว พุ่งชนตึกฝั่งทิศเหนือของอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เวลา 08:46 น. ด้วยความเร็ว 755 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเหตุให้เบ็ตตี อองและลูกเรืออีก 10 คน รวมถึงผู้โดยสาร 81 คน เสียชีวิตในเที่ยวบิน AA11
วังวนแห่งความเจ็บปวด
เรื่องราวสำคัญในช่วงแรกและรายละเอียดที่เธอโทรแจ้ง ช่วยให้รัฐบาลสหรัฐฯ ตระหนักถึงขอบเขตของการโจมตีจากกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งในปี 2004 เบ็ตตี ออง ได้รับการประกาศให้เป็น "ฮีโร่ชาวอเมริกันตัวจริง" โดยโธมัส คีน ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการโจมตีผู้ก่อการร้ายต่อสหรัฐฯ หรือที่รู้จักในชื่อคณะกรรมาธิการ 9/11
ครอบครัวของเธอ ถือว่า การประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกที่ควร
“เบ็ตตีเป็นคนอเมริกัน เธอเป็นฮีโร่เพราะสิ่งที่เธอทำ” เคธีกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “เหตุการณ์ 9/11 ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ บ่งบอกว่าทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะเราต่างช่วยเหลือกัน”
20 ปีต่อมา ครอบครัวออง ยังอาลัยถึงเบ็ตตี หลังชีวิตของเธอต้องจบลงอย่างโหดร้าย
ฮาวายกลายเป็นเพียง “ทริปในฝัน”
เบ็ตตี ออง เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1956 สมาชิกในครอบครัวเรียกว่า บี (Bee) เธอเป็นน้องคนสุดท้อง ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 4 คน จากครอบครัวเชื้อสายจีนในซานฟรานซิสโก เธอเป็นชาวอเมริกันรุ่นที่ 3 ซึ่งบรรพบุรุษอพยพมาจากจีน หลังสงครามโลกครั้งที่ 1
เบ็ตตี หลงใหลในการเดินทาง เธอเริ่มต้นอาชีพการบิน ในแผนกรับกระเป๋าสัมภาระของ PSA Airlines ช่วงปี 1980 จากนั้นย้ายมาสายการบิน Delta Air Lines ในฐานะตัวแทนขายตั๋ว
จนกระทั่งปี 1987 เธอได้เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สายการบิน American Airlines ซึ่งเป็นงานในฝัน โดยเลือกบินระหว่างบอสตันและแคลิฟอร์เนียเป็นส่วนใหญ่ เพื่อที่เธอจะได้กลับบ้านที่ซานฟรานซิสโกได้สะดวก
หากพูดในฐานะคนครอบครัว ตระกูล “ออง” มีความผูกพันแน่นแฟ้นกันทั้งบ้าน
ฤดูร้อนปี 2001 สี่พี่น้องตระกูลออง วางแผนเยือนฮาวาย ซึ่งเนื้อหาในอีเมล ที่เบ็ตตีส่งถึงเคธีก่อนเกิดเหตุวินาศกรรม เธอกล่าวว่า ตัวเองต้องทำงานล่วงหน้า จะได้มีวันลามากขึ้นเพื่อไปเที่ยวกับครอบครัว
เคธีเล่าถึงเนื้อหาที่เบ็ตตีเขียนหาเธอในวันที่ 9 กันยายน ว่า “แย่จัง ที่ต้องทำงานหนัก” ก่อนที่เบ็ตตีจะขอเปลี่ยนกะ เป็นวันที่ 11 กันยายน และนั่น เป็นเที่ยวบินสุดท้ายของเธอ
“น้องสาวผู้กล้าหาญ”
เช้าตรู่ของวันนั้น โทรศัพท์ของเคธีดังขึ้น น้องชายบอกให้เธอเปิดทีวี เพราะมีเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ แฮร์รีถามเคธีว่า เบ็ตตีอยู่ที่ไหน เขาได้ยินว่า เครื่องบินที่พุ่งชนตึก เป็นเที่ยวบินที่มาจากบอสตัน
“ใจฉันแตกสลายไม่มีชิ้นดี” เคธีกล่าว “ฉันโทรไปหาเบ็ตตี แต่สายไม่ว่าง ได้แต่หวังว่า เธอกำลังพยายามโทรหาเรา เพื่อบอกว่าเธอไม่เป็นไร”
เคธีและสามีตัดสินใจขับรถไปซานฟรานซิสโก ระหว่างทาง เธอได้ยินลูกเรือภาคพื้นดินของ American Airlines พูดในรายงานข่าวว่า คนในเที่ยวบิน AA11 โทรแจ้งข่าวการจี้เครื่องบิน
“ตอนที่ได้ยิน ฉันรู้ถ้าเบ็ตตีอยู่บนเครื่องบินลำนั้น ก็คงเป็นเธอ เพราะเธอเป็นคนกล้าหาญและชอบช่วยเหลือผู้อื่น” เคธีกล่าว ขณะที่สายต่อมา เธอได้รับข่าวร้าย สายการบิน American Airlines ยืนยันว่า เบ็ตตีอยู่ในเที่ยวบินดังกล่าว
“ฉันบอกสามีว่า ฉันต้องลงจากรถ ตอนนั้นน่าจะสัก 2 ทุ่ม ฉันตกใจมาก ได้แต่ร้องไห้ มองขึ้นไปบนฟ้าแล้วตะโกนว่า 'ทำไม ทำไม ทำไม!' ”
แม้กายจากไป แต่สิ่งที่เธอทำไม่ลืมเลือน
เมื่อไปถึงบ้าน สาธุคุณนอร์มัน ฟง บาทหลวงที่โบสถ์เพรสไบทีเรียนในไชน่าทาวน์ก็อยู่ที่นั่นแล้ว, ฟง เป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ของเคธี เขากลายเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังการรณรงค์ เพื่อรำลึกถึง “เบ็ตตี ออง” มายาวนานนับทศวรรษ
"มันเป็นเรื่องยาก ในตอนแรกเธอไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นฮีโร่" ฟง วัย 69 ปี ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุในฐานะผู้อำนวยการบริหาร ที่ศูนย์พัฒนาชุมชนซานฟรานซิสโกไชน่าทาวน์
ฟงและครอบครัวออง อยากตั้งชื่ออาคารตามเบ็ตตี แต่กลับล้มเหลว แต่ฟงไม่ยอมแพ้ และขอการสนับสนุนจากแผนกนันทนาการและสวนสาธารณะในซานฟรานซิสโก รวมถึงนายกเทศมนตรี เอ็ด ลี ให้เปลี่ยนชื่อศูนย์ชุมชนไชน่าทาวน์ เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ
สุดท้ายจึงเกิด ศูนย์นันทนาการ Betty Ann Ong Chinese Recreation Center อาคารขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 2,230 ตารางเมตร ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ
ปี 2004 เคธีก่อตั้งมูลนิธิ Betty Ann Ong ซึ่งดำเนินการค่ายฤดูร้อนสำหรับเด็ก “ฉันต้องการสานต่อจิตวิญญาณของเบ็ตตีที่มีต่อเด็ก ๆ และอยากให้เรื่องราวของเธออยู่เหนือกาลเวลา มันควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็ก ๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่เบ็ตตีรัก” เคธีกล่าว
ยากที่สุดเมื่อต้องยอมรับความสูญเสีย
หนึ่งปีหลังจากเบ็ตตี แอน อองเสียชีวิต เคธีระบุว่า เธอไม่ยอมรับการจากไปของเบ็ตตี และไม่อยากพูดคุยเรื่องน้องสาว เพราะการพูดถึงเบ็ตตีหมายถึงเธอยอมรับว่าเบ็ตตีไม่อยู่แล้ว
ในปี 2017 ซึ่งเป็นเวลากว่า 16 ปี หลังจากทริปฮาวายพี่น้องที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เคธีไปที่เกาะเมาวี ในฮาวาย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับน้องสาวของเธอที่สโมสรโรตารีที่นั่น
“ระหว่างการเดินทาง ฉันคิดถึงเบ็ตตีมาก ๆ เพราะนั่นคือที่ที่พวกเราวางแผนว่าจะท่องเที่ยวด้วยกัน การพูดเรื่องเบ็ตตีเรื่องยาก แต่ก็ทำให้ฉันต้องทำให้สำเร็จ” เคธีกล่าว
ครอบครัว “ออง” ร่วมงานรำลึก 11 กันยายนในนิวยอร์กซิตี้ทุกปี จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ แม่ของพวกเขา ซึ่งตอนนี้อายุ 96 ปี ไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศ หลังเกิดโรคระบาด ครอบครัวจึงเลือกพักผ่อนในบริเวณใกล้เคียงแทน
แรงบันดาลใจ ผลักดัน “Stop Asian Hate”
เคธี ซึ่งตอนนี้อายุ 70 ปี กล่าวว่า การตายของเบ็ตตี “ทำให้เราเป็นครอบครัวที่เข้มแข็ง และใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม”
“เราบอกรักกันมากขึ้น เกือบทุกบทสนทนาจบลงด้วยคำว่า 'I love you' ”
เหตุการณ์นี้ ในอีกแง่ก็ทำให้ครอบครัวอองภาคภูมิใจ พวกเขารู้ดีว่า สิ่งที่เบ็ตตีทำ ช่วยให้หลาย ๆ คน มีชีวิตรอด
“ผมคิดว่าเบ็ตตีอยู่บนสวรรค์ ได้เป็นนางฟ้าอยู่บนนั้น” ฟงกล่าว “ผมจะพูดว่า 'ขอบคุณสำหรับสิ่งที่คุณทำ ไม่ใช่แค่เพื่อประเทศของเรา แต่สำหรับเด็ก ๆ ในไชน่าทาวน์ด้วย' พวกเขามีฮีโร่ เบ็ตตี้เป็นฮีโร่อย่างเต็มภาคภูมิ”
ฟง จะทำงานในชุมชนต่อไป เพื่อต่อสู้กับความเกลียดชังที่มีต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เขายังกล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่เห็นความโกรธแค้นทวีขึ้น ทั้งยังพุ่งเป้าไปที่ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน
“หนทางยังอีกยาวไกล กว่าสหรัฐฯ จะยอมรับว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ก็เป็นชาวอเมริกัน” ฟง กล่าว
“ความกลัวเป็นศัตรูตัวฉกาจในชีวิต มีความกลัวมากมายจากความเกลียดชัง เบ็ตตีเอาชนะความกลัวของเธอเพื่อช่วยสหรัฐฯ พวกเราต้องยืนหยัด เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เปราะบางเช่นกัน” เขากล่าวเสริม
ฮีโร่เคียงข้างในความทรงจำ
เคธีกล่าวว่า ทุกครั้งที่เธอได้ยินเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง เธอจะนึกถึงความกล้าหาญของเบ็ตตี
อย่างไรก็ตาม ร่างของเบ็ตตี ถูกฝังในเมืองคอลมา รัฐแคลิฟอร์เนีย บนคาบสมุทรซานฟรานซิสโก เคธีเริ่มจุดเทียนรำลึกถึง “เบ็ตตี” ตั้งแต่ปี 2001 และเมื่อพ่อของพวกเขา เสียชีวิต ในปี 2007 เคธีจึงจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงทั้งคู่
“ฉันจะจุดเทียนรำลึกถึงเบ็ตตีและพ่อ ตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ การแหงนมองท้องฟ้าและพูดคุยกับดวงดาว หลาย ๆ ครั้งทำให้รู้สึกสบายใจ ยามเห็นดาวตก มันทำให้รู้สึกว่า พวกเขายังอยู่เคียงข้างไม่ไปไหน”
“ในหลายแง่มุม ครอบครัวของเราโชคดีมาก เพราะเรารู้ว่าช่วงเวลาสุดท้ายของเบ็ตตีเป็นอย่างไร จากโทรศัพท์สายนั้นของเธอ” เคธีกล่าว “รวมถึง ‘เบ็ตตี’ ยังได้กลับคืนสู่อ้อมกอดครอบครัวด้วย”